บนหน้าจอทีวีไทย มีรายการ Fact-checking มากน้อยแค่ไหน?

ต้องยอมรับว่าในยุคนี้แม้จะเป็นยุคของข้อมูลข่าวสารบนโลกออนไลน์ที่ไหลอย่างไม่หยุดนิ่ง หลายภาคส่วนพยายามช่วยตรวจสอบข้อมูลหรือข้อเท็จจริงหลายๆ เรื่องที่ถูกเผยแพร่บนโลกออนไลน์ หรือ Fact-Checking ซึ่งมีทั้งจริง จริงบ้างบางส่วน หรือแม้แต่ไม่มีเค้าของข้อเท็จจริงเลยก็มี 

ซึ่งมีทั้ง “ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย” จากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส), CoFact.org พื้นที่เปิดให้ทุกคนมาช่วยกันตรวจสอบข่าวลวง จากความร่วมมือของหลายภาคส่วน หรือแม้แต่ AFP Fact-Check ที่ล่าสุดมีการตรวจสอบข้อมูลในประเทศไทยแล้ว 

แต่หลาย ๆ คนก็อาจสงสัยว่าในรายการโทรทัศน์ของไทยเรานั้นมีการทำคอลัมน์ Fact-Checking กันบ้างหรือไม่ ตื่นตัวในประเด็นนี้กันมากน้อยแค่ไหน 

ทีวีไทย มีคอลัมน์ตรวจสอบข้อมูล แต่บางรายการ/คอลัมน์เลิกไปแล้ว

เริ่มที่ ช่อง 9 MCOT HD ก็จะมีคอลัมน์ “ชัวร์ก่อนแชร์” ในรายการข่าวค่ำ สำนักข่าวไทย อสมท เวลา 19.00 น. โดยประมาณ นำเสนอโดยคุณพีรพล อนุตรโสตถิ์ @yoware เจ้าของวลีฮิต “หืม..ชัวร์เหรอ?” เริ่มออกอากาศตั้งแต่ ปี 2558 จนถึงปัจจุบันยังออกอากาศอยู่ โดยในเวลาต่อมาได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ 

➡ ชมย้อนหลัง “ชัวร์ก่อนแชร์” ได้ทาง https://www.youtube.com/c/SureAndShare 

ส่วนช่อง PPTV มีรายการ “ชัดก่อนแชร์” ออกอากาศทุกวันศุกร์ เวลา 13.40 น. ดำเนินรายการโดยคุณชัชฎาภรณ์ ศรีอุดร เริ่มออกอากาศครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2563 จนถึงปัจจุบันยังออกอากาศอยู่ 

➡ ชมย้อนหลังรายการ “ชัดก่อนแชร์” ได้ที่ https://www.pptvhd36.com/programs/ชัวร์ก่อนแชร์ 

ขณะที่รายการ “วันใหม่วาไรตี้” ของ ThaiPBS ซึ่งออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.00 น. เริ่มมีคอลัมน์ “ชัวร์หรือมั่ว” เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2564 

➡ ชมย้อนหลังรายการ “วันใหม่วาไรตี้” ได้ทาง https://program.thaipbs.or.th/WanmaiVariety/ 

ช่อง 3 มีรายการ “จับข่าวลวง” ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.45 น. ดำเนินรายการโดย นวนันท์ บำรุงพฤกษ์ ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2562 – 16 กุมภาพันธ์ 2564 มีผู้สนับสนุนรายการเป็นผู้ผลิตยาดมแห่งหนึ่ง 

➡ ชมย้อนหลังรายการ “จับข่าวลวง” ได้ทาง https://ch3plus.com/news/programs/jabkaoluang  

ช่อง 7 มีคอลัมน์ “ข่าวจริงป่ะ” ออกอากาศทุกวันพุธ เวลา 15.45 น. ในรายการ “เจาะประเด็นข่าวค่ำ” ตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคม – 28 ตุลาคม 2563 ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ 

➡ ชมย้อนหลัง “ข่าวจริงป่ะ” ได้ที่ https://news.ch7.com/label/ข่าวจริงปะ 

ส่วนทีวีดิจิทัลอีกหลายช่อง ในรายการข่าวนั้นจะมีการดึงข้อมูลจาก “ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย” มาใช้ในการรายงานข่าวอยู่บ่อยๆ ครั้งเช่นกัน

นอกจากนี้ยังพบว่าหลายๆ รายการบนหน้าจอทีวี โดยเฉพาะรายการข่าว ใช้กระบวนการด้านการแสวงหาข้อเท็จจริง หรือ Journalism ซึ่งอาจสอดคล้องกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นมากกว่าการชี้ชัดไปเลยว่าเรื่องใดคือเรื่องจริง เรื่องใดคือเรื่องเท็จ เช่น เรื่องประเด็นด้านการเมืองหรือสังคม เป็นต้น

ข้อเสนอแนะในอนาคต

ต้องไม่ลืมว่าผู้ชมรายการข่าวส่วนใหญ่บนหน้าจอทีวี มักมีช่วงอายุมากกว่า 40 ปี ขึ้นไปโดยประมาณ ดังนั้นถ้าทางสถานีโทรทัศน์ยังมีเวลาให้กับรายการแนว Fact-checking ก็ควรเปิดพื้นที่ไว้เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้และรับทราบไว้ ก็จะช่วยให้สังคมได้ร่วมกันตรวจสอบและตระหนักถึงการหาข้อมูลหรือข้อเท็จจริงต่อไป 


บทความนี้เผยแพร่โดย ยามเฝ้าจอ ร่วมมือกับ CoFact.org เนื่องในวันตรวจสอบข่าวลวงโลก (International Fact Checking Day 2021)

รับชม Live กิจกรรมสัมมนาไฮบริด เนื่องในวันตรวจสอบข่าวลวงโลก โดยร่วมกับ IFCN เครือข่าย​องค์กร​ตรวจสอบ​ข่าวสากล​ และ ภาคีมากกว่า 40 องค์กร​ไทยและนานาชาติ​ แลกเปลี่ยน​กันในประเด็น “ความท้าทายในการตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกัน” ได้ผ่านเพจ ThaiPBS และ Cofact โคแฟค