“สื่อแวดล้อม” ระบบนิเวศของสื่อไทยในปัจจุบัน

เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จัดเสวนาวิชาการ “สื่อ-แวด-ล้อม: นิเวศสื่อที่ดีเพื่อสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” พร้อมนำเสนอผลงานวิจัยเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

นายวสันต์ ภัยหลักลี้ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ "สื่อแวดล้อม"

นายวสันต์ ภัยหลักลี้ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า ผู้รับสารในปัจจุบันมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปจากสมัยก่อนอย่างมาก จากเดิมที่ทำหน้าที่เป็นเพียงผู้รับสารอย่างเดียว ปัจจุบันกลุ่มคนเหล่านั้นก็สามารถกลับกลายมาเป็นผู้ส่งสารได้ ประกอบกับช่องทางและแพลตฟอร์มในปัจจุบันมีการพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด ทำให้สารเหล่านั้นถูกแพร่กระจาย ถูกส่งต่อไปได้อย่างรวดเร็ว จึงเป็นโจทย์ที่ทางกองทุนต้องหาคำตอบให้ได้ ว่าทำอย่างไรถึงจะทำให้เกิดความสมดุลระหว่างผู้ใช้สื่อ ระบบสื่อ เทคโนโลยี และโครงสร้างทางสังคม เพื่อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดการใช้สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ทางกองทุนจึงได้ริเริ่มโครงการวิจัย “นิเวศสื่อ” เพื่อเป็นหลักในการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายขึ้น

ด้าน อ.กอบกิจ ประดิษฐผลพานิช คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สื่อในปัจจุบันมีพื้นที่ทับซ้อนเกิดขึ้นตรงกลาง ระหว่างสื่อเก่า และสื่อใหม่ เราต้องพยายามหาคำตอบให้ได้ว่า สิ่งที่อยู่ต้องการนี้มีแนวทางในการขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างไรให้สามารถอยู่รอดได้ในยุคปัจจุบัน ทั้งยังกล่าวเสริมอีกว่า เทคโนโลยีในปัจจุบันมีส่วนช่วยในการรายงานข่าวเป็นอย่างมาก อย่างกรณี 13 ชีวิตติดถ้ำหลวง เราจะเห็นได้ว่าสื่อมวลชนทั้งไทยและชาวต่างชาติให้ความสนใจเหตุการณ์นี้ ในฐานะผู้รับสารเราได้เห็นทั้งอินโฟกราฟิก การนำเสนอข่าวโดยใช้เทคโนโลยีอิมเมอร์ซีฟ รวมไปถึงการที่ประชาชนเป็นกระบอกเสียงไปยังสื่อมวลชนว่าตนเองต้องการที่จะรับข่าวสารในรูปแบบใด อีกเหตุการณ์หนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความรวดเร็วในการรายงานข่าวคือกรณีเรือล่มที่ภูเก็ต สื่อไทยรายงานข่าวไปเพียงไม่นาน สื่อหรือคนในประเทศจีนก็มีการแปลข่าวนั้นไปเป็นภาษาจีนอย่างรวดเร็ว

ขณะที่ ดร.ชนัญสรา อรนพ ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้อำนวยการหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตย์ สาขานิเทศศาสตร์ ได้เปิดเผยผลการวิจัย “นิเวศสื่อ” ในประเด็น 10 ปี ของการรู้เท่าทันสื่อและการมีส่วนร่วมว่า ผู้ใช้สื่อมีทักษะการรู้เท่าทันสื่อที่จำกัด มีปัญหาในการคิด วิเคราะห์ ตีความและประเมินคุณค่าของสื่อ รวมไปถึงปัญหาการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบหรือสร้างการเปลี่ยนแปลง

“การรับรู้ปัญหาสังคม” ไปสู่ “การลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงสังคม”

ยุคดิจิทัล สื่อออนไลน์มีส่วนในการเพิ่มความสามารถของบุคคลในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสื่อ รวมถึงการสร้างสรรค์และการมีส่วนร่วมได้มากขึ้น แต่ยังไม่สามารถกระตุ้นให้เปลี่ยนจาก “การรับรู้ปัญหาทางสังคม” ไปสู่ “การลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงสังคม” ได้ เปรียบเสมือนเรารับรู้ว่าหมู่บ้านเรารถติด แต่เราทำได้แค่เพียงรับรู้ ไม่กล้าที่จะลุกขึ้นมาหาสาเหตุ หาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

ในมิติทางด้านการศึกษาเรื่องการรู้เท่าทันสื่อ ยังมีการกระจุกตัวอยู่เพียงเด็กในระดับชั้นมัธยมศึกษาและมหาวิทยาลัยเท่านั้น ทำให้ขาดความหลากหลายของวัยในการเรียนรู้เรื่องที่จำเป็น อีกทั้งองค์ความรู้ในปัจจุบันยังมีอยู่ค่อนข้างจำกัด เช่น การรังแกผ่านโลกไซเบอร์ ประทุษวาจา ข่าวปลอม/ข่าวลวง การรู้เท่าทันดิจิทัล ความฉลาดทางดิจิทัลเป็นต้น

ในส่วนของผู้ผลิตสื่อยังประสบปัญหาสำคัญ อาทิ ปัญหาการขาดเงินทุน ปัญหาประสิทธิภาพในการบริหารจัดการองค์กรสื่อ อีกทั้งยังต้องเผชิญกับความท้าทายจากสภาพเศรษฐกิจและสภาวะการแข่งขันในอุตสาหกรรมสื่อที่รุนแรงความแพลตฟอร์ม ทำให้คนผลิตคอนเทนต์ ต้องพัฒนาเนื้อหาใหม่ ๆ เพื่อให้ได้เปรียบทางการแข่งขัน

ประชาชน “อยากรู้” หรือ ประชาชน “ควรรู้”

อีกทั้งยังพบปัญหาเกี่ยวกับจริยธรรมในการนำเสนอเนื้อหาสู่สาธารณะของสื่อมวลชน ทั้ง มีการปรากฏของโฆษณาที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค การจัดเรทติ้งไม่สอดคล้องกับเนื้อหาที่ปรากฏ การใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสมในการดำเนินรายการ ผู้สื่อข่าวใช้ข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์ในการรายงานข่าวสารขาดการตรวจสอบ ฯลฯ ทั้งหมดนี้จึงก่อให้เกิดคำถามกับประชาชนเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือ รวมถึง บทบาทและจุดยืนของสื่อมวลชนในฐานะสถาบันของสังคม กับ การนำเสนอสิ่งที่ประชาชน “อยากรู้” กับ สิ่งที่ประชาชน “ควรรู้”

ทางด้าน อ.การดา ร่วมพุ่ม รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะนิเทศศาสตร์ ได้กล่าวเสริมในประเด็น “ความชุลมุนในนิเวศสื่อจาก Technology Disruption” ว่า เทคโนโลยีก่อกวน ส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภค รวมไปถึงสัดส่วนในการเข้าถึงและประโยชน์จากสื่อออนไลน์มากขึ้น ทำให้เกิดพฤติกรรมในการเปิดรับสื่อดั้งเดิมลดลง ประกอบกับการเกิดผู้เล่นรายใหม่ในสื่อโทรทัศน์ดิจิทัล ทำให้มีการแชร์ส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่เม็ดเงินโฆษณายังมีอยู่อย่างจำกัด ทำให้สื่อต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง

ปิด ปรับ เปลี่ยน

ปิด สื่อที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเอง ต้องปิดตัวลง นิตยสารหลายฉบับ หนังสือพิมพ์หลายหัว รวมไปถึงรายการโทรทัศน์หลายรายการได้ล้มหายไป ปรากฏให้เห็นชัดในรอบหลายปีที่ผ่าน

ปรับ องค์กรสื่อจำเป็นจะต้องมีการปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ทั้งการทำธุรกิจข้ามแพลตฟอร์ม อาทิ สื่อสิ่งพิมพ์ข้ามแพลตฟอร์มมาทำสื่อโทรทัศน์ สื่อโทรทัศน์ข้ามแพลตฟอร์มมาทำสื่อออนไลน์ เป็นต้น

เปลี่ยน องค์กรไม่สามารถที่จะปรับองค์กรตัวเองได้ ก็จำเป็นที่จะต้องหันไปทำธุรกิจอื่น

เทคโนโลยีก่อกวนและการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรมสื่อ ส่งผลต่อกระบวนการทำงาน ความคิดสร้างสรรค์และการนำเสนอข่าว นักข่าวได้นำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาปรับใช้ในการนำเสนอข่าว ไม่ว่าจะเป็นการใช้อากาศยานไร้คนขับ มาใช้ในการถ่ายภาพมุมสูง ทำให้ผู้ชมได้ตื่นตาตื่นใจกับมุมมองที่แปลกใหม่ หรือ การรายงานข่าวผ่านทางเฟซบุ๊กไลฟ์เพื่อให้ใกล้ชิดกับประชาชนมากยิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม การแข่งขันด้านความเร็ว ก่อให้เกิดความสุ่มเสี่ยงต่อปัญหาเชิงจริยธรรมของนักวิชาชีพสื่อ ทั้งปัญหาการคัดกรองข้อมูล และการแพร่ภาพไม่เหมาะสมเป็นต้น

เมื่อเทคโนโลยีไม่ได้อยู่แต่ในมือสื่อเพียงผู้เดียว

ประชาชนในปัจจุบันสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองจากผู้รับสารให้กลายเป็นผู้ส่งสารได้ ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาเกิดผู้ส่งสารกลุ่มใหม่ ๆ ที่ไม่ใช่นักวิชาชีพสื่อ แต่มีอิทธิพลต่อความคิด ความเชื่อของผู้รับสารในหลายแง่มุม

Online Influencer ผู้ทรงอิทธิผลบนโลกออนไลน์ บุคคลกลุ่มนี้มีอิทธิพลต่อความคิด พฤติกรรมต่อสมาชิกที่ติดตามเป็นอย่างมาก ในหลายครั้งเพจใหญ่ ๆ ได้มีการเปิดประเด็นบนโลกออนไลน์ จนกระทั้งสื่อหลักต้องอาศัยข้อมูลเหล่านั้นนำมาทำเป็นข่าว แต่ทว่าบุคคลกลุ่มนี้ก็ไม่ได้เป็นแต่คนดีเสมอไป อาจจะมีการแสวงหาประโยชน์ รวมไปถึงให้ข้อมูลปลอมเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับตนอีกด้วย

นอกจากนี้บนโลกออนไลน์ ยังมีเนื้อหาที่เป็นมลพิษและถูกแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็น ข่าวปลอม (Fake news) หรือ ประทุษวาจา (Hate speech) เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นความท้าทายอย่างยิ่งในการกำกับดูแลสื่อของไทย

ในส่วน ดร.มาโนช ชุ่มเมืองปัก ได้นำเสนอข้อมูลในประเด็น “นิเวศสื่อ 4.0 เพื่อสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” ว่า ในยุค 4.0 คือยุคที่คนกับเทคโนโลยีเกี่ยวพันกันอย่างแยกไม่ขาด และเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทครอบงำในเรื่องพฤติกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ ซึ่งย่อมก่อให้เกิดคำว่า “นิเวศสื่อ” แบบใหม่ที่ต่างไปจากโลกในยุคก่อนหน้า

นิเวศสื่อที่ดี สามารถแบ่งได้ 3 มิติดังนี้

1) มิติการรู้เท่าทันสื่อและการมีส่วนร่วม คนทุกคนในกลุ่มสังคมมีทักษะการรู้เท่าทันสื่อ โดยเฉพาะความสามารถในการตีความ วิเคราะห์เนื้อหาและประเมินคุณค่า รวมไปถึงการเป็นผู้ใช้สื่อที่มีความกระตือรือร้น ตระหนักถึงการมีส่วนร่วมเพื่อช่วยสร้างสรรค์สังคมที่ดีและปลอดภัย

2) มิติการพัฒนาสื่อและบทบาทของสื่อเพื่อการพัฒนา มีการผลิตสื่อสร้างสรรค์เพื่อตอบสนองคนหลากหลายกลุ่ม และช่วยพัฒนาผู้ใช้สื่อให้เป็นพลเมืองที่กระตือรือร้น รวมทั้งมีนโยบายสนับสนุนที่ชัดเจนจากภาครัฐ

3) มิติการกำกับดูแลและจริยธรรมสื่อ คือ การสร้างสังคมที่มีความสมดุลและเกื้อกูลกันระหว่างกลไกการกำกับดูแลและจริยธรรมสื่อทั้ง 3 ส่วน ได้แก่ การกำกับกันเอง การกำกับดูแลโดยรัฐตามกฏหมาย และการมีส่วนร่วมในการกำกับดูแลตนเองของผู้ใช้สื่อ

เราจะขับเคลื่อนให้เกิดนิเวศสื่อที่ดีได้อย่างไร

ควรสนับสนุนให้เกิดแหล่งเรียนรู้ โดยเฉพาะในลักษณะ Digital Learning Platform เพื่อเอื้อต่อการเข้าถึงและใช้งานของกลุ่มคนต่าง ๆ อาทิ เพื่อส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อ เพื่อส่งเสริมการคิดสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาสำหรับผู้ผลิตสื่อ และเพื่อส่งเสริมการกำกับดูแลและจริยธรรมสื่อ