ทีไอทีวี vs ช่อง 11: ย้อนดูช่วงคัดเลือกช่องที่จะมาเป็นทีวีสาธารณะ

15 มกราคม 2551 ถือเป็นวันประกาศใช้พระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551 ทำให้ทีวีสาธารณะแห่งแรกของประเทศไทย หรือ ‘ไทยพีบีเอส’ (ThaiPBS) ก็ได้เริ่มขึ้น

‘ยามเฝ้าจอ’ ขอพาทุกคนย้อนอดีตไปสู่ต้นกำเนิดของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ รวมถึงการถกเถียงกันอย่างเมามันส์ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ ควรไป ‘สวมทับร่าง’ ของใคร ระหว่าง ‘ช่อง 11’ ของกรมประชาสัมพันธ์ กับ ‘ทีไอทีวี’ ที่เพิ่งถูกแปลงร่างมาจากไอทีวีเดิม

บุคคลในภาพ คือ คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในเวลานั้น

วันที่ 24 เมษายน 2550 หลังจากการปิดตัวของสถานีโทรทัศน์ ‘ไอทีวี’ (TITV) และถูกแปรรูปชั่วคราวกลายเป็น ‘ทีไอทีวี’ ได้ประมาณ 1 เดือน คณะรัฐมนตรีของพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ได้มีมติให้แปลงโฉมสถานีโทรทัศน์แห่งนี้เป็น ‘ทีวีสาธารณะ’ ซึงเชื่อว่าจะเป็นทางเลือกใหม่ที่โปร่งใส ปราศจากการแทรกแซงของกลุ่มทุนและนักการเมือง รวมถึงแก้ไขในสิ่งที่เชื่อกันว่า ‘ไอทีวี ทีวีเสรี’ เคยเดินพลาดไว้

หลังจากวันนั้น การร่าง พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (หรือที่เรียกกันย่อๆ ในสมัยนั้นว่า ‘พ.ร.บ.ทีวีสาธารณะ’) ก็เริ่มดำเนินการกันอย่างแข็งขัน โดยมีคุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเป็นประธานกรรมธิการฯ และมีนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนชื่อดังหลายท่านเป็นกรรมาธิการฯ มีการถกเถียงกันในหลายประเด็น ทั้งเรื่องรูปแบบขององค์กร แหล่งรายได้ขององค์กร และกฎระเบียบต่างๆ เพื่อธำรงความโปร่งใสขององค์กร

แต่ประเด็นหนึ่งที่มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในคณะกรรมาธิการฯ และสาธารณชนทั่วไป คือเรื่องที่ว่า ‘ทีไอทีวี’ ควรจะเป็นสถานีที่ถูก ‘สวมทับร่าง’ ให้กลายเป็นทีวีสาธารณะจริงหรือ? หรือแท้ที่จริงแล้ว ‘ช่อง 11’ น่าจะเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมมากกว่า

วันที่ 31 ตุลาคม 2550 ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ก็มีการถกเถียงในประเด็นต่างๆ กันอย่างเข้มข้นกว่า 4 ชั่วโมง รวมถึงประเด็นเรื่องการเปลี่ยนร่างที่ถูกสวมทับจาก ‘ทีไอทีวี’ เป็น ‘ช่อง 11’ ด้วย

นายอรรคพล สรสุชาติ
นายอรรคพล สรสุชาติ | ภาพ: มติชน

นายอรรคพล สรสุชาติ หนึ่งในกรรมาธิการฯ คือหัวหอกหลักที่คัดค้านร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ โดยเห็นว่าร่างที่ถูกสวมทับควรจะเป็นช่อง 11 มากกว่าทีไอทีวี เนื่องจากที่ผ่านมาช่อง 11 ไม่ได้ผลิตรายการด้วยตนเองอยู่แล้ว เพราะส่วนใหญ่เป็นการปล่อยให้หน่วยงานต่างๆ มาเช่าเวลาออกอากาศ จึงน่าจะปรับเปลี่ยนรูปแบบองค์กรให้เป็นทีวีสาธารณะโฉมใหม่ได้ง่ายกว่า อีกทั้งในขณะนั้นไอทีวียังคงมีข้อพิพาทฟ้องร้องอยู่กับสำนักนายกรัฐมนตรี หากปรับเปลี่ยนทีไอทีวีไปเป็นทีวีสาธารณะในตอนนี้ก็อาจจะเกิดปัญหาตามมาได้

นอกจากประเด็นนี้แล้ว อรรคพลยังแสดงความกังวลว่า เงินภาษีที่รัฐจะอุดหนุนทีวีสาธารณะปีละ 2,000 ล้านบาทนั้นอาจจะไม่เพียงพอต่อการบริหารจัดการ จนอาจต้องประสบกับปัญหาด้านเงินทุนอย่างหนักเหมือนเช่น  BBC ในอังกฤษได้ จึงควรปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ให้ทีวีสาธารณะสามารถเก็บค่าสมาชิกหรือหารายได้จากการโฆษณาเป็นบางส่วนได้

ขณะที่คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ ประธานกรรมาธิการฯ และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า เหตุที่ไม่พิจารณาเลือกช่อง 11 เพราะภารกิจส่วนใหญ่ของสถานีเป็นการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารทางราชการ โดย 1 ใน 3 ของการออกอากาศเป็นการถ่ายทอดสดงานสำคัญต่างๆ ของราชการ หากปรับเปลี่ยนไปเป็นทีวีสาธารณะก็อาจจะทำให้รัฐบาลขาดเครื่องมือในการสื่อสารข้อมูลต่างๆ ไปสู่ประชาชนได้ ส่วนคดีความของไอทีวีนั้นเป็นหน้าที่ของสำนักนายกรัฐมนตรีที่จะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป โดยจะใช้งบประมาณส่วนหนึ่งของทีวีสาธารณะช่องใหม่นี้ในการจ่ายค่าต่อสู้คดี

ท้ายที่สุด ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติในวันนั้นก็มีมติ 106:44 เสียง ผ่านความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย การคัดค้านที่นำโดย ‘อรรคพล สรสุชาติ’ ในวันนั้นไม่สัมฤทธิ์ผล และเป็นผลให้ ‘ทีไอทีวี’ ต้องถูกสวมทับร่างกลายเป็นทีวีสาธารณะที่ไม่มีโฆษณา และรับรายได้โดยตรงจากภาษีสรรพสามิตปีละ 2,000 ล้านบาท

ถัดจากวันนั้นไม่กี่เดือน.. ทีวีสาธารณะแห่งแรกของประเทศไทยก็ถือกำเนิดขึ้นในค่ำคืนของวันอังคารที่ 15 มกราคม 2551 พร้อมกับการปิดตัวลงของ ‘ทีไอทีวี’ ที่ถูกสวมร่างใหม่ ในชื่อ ‘ไทยพีบีเอส’ (ThaiPBS)

ส่วนช่อง 11 ของกรมประชาสัมพันธ์นั้นก็ไม่ได้นิ่งเฉย เพราะในวันที่ 1 เมษายน 2551 ก็ถูกแปลงโฉมใหม่กลายเป็น ‘NBT’ ภายใต้แนวคิด ‘Modern Eleven’ ของรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ที่ต้องการทำให้ช่อง 11 กลายเป็นทีวีรัฐบาลที่ทันสมัยมากขึ้น.. นั่นเอง

ข้อมูลเพิ่มเติม

  • ครม.ถกอนาคตทีไอทีวี-เสนอ 2 ทางเลือก “สื่อเสรี-สื่อสาธารณะ” – mgronline.com/politics/detail/9500000046549
  • สนช.ผ่านร่าง พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงฯ ส่งผลให้ TITV เป็นทีวีสาธารณะ – www.ryt9.com/s/iq01/324552