ย้อนกลับไปในวันที่ 1 กรกฎาคม 2539 สถานีโทรทัศน์เสรีแห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศไทย ในชื่อ ‘ไอทีวี’ ได้เริ่มออกอากาศเป็นครั้งแรก หลังเกิดเสียงเรียกร้องให้มีสื่อที่มีความอิสระเสรี ไม่ถูกแทรกแซงโดยกลุ่มอำนาจใดๆ เหมือนสื่อในช่วงเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” ปี พ.ศ.2535 ซึ่งสถานีแห่งนี้ผ่านร้อนผ่านหนาว เกิดเหตุการณ์ต่างๆ มากมาย แต่สุดท้ายก็ถูกปิดตัวลง
ทำให้กิจการ อำนาจหน้าที่ ทรัพย์สิน งบประมาณ หนี้ สิทธิ คลื่นความถี่ ของไอทีวี ตกไปอยู่กับทีวีสาธารณะที่ชื่อ TPBS (ปัจจุบันชื่อ ThaiPBS) ในเวลาต่อมา
‘ยามเฝ้าจอ’ จึงขอรวบรวมข้อมูลมาให้ทราบกัน ผ่านยุคต่างๆ ตามโลโก้ของสถานีที่เปลี่ยนไปในแต่ละช่วงเวลา เพราะข้อมูลก็เริ่มจางหายไปตามเวลาแล้ว
Table of Contents
แบ่งยุคของ ‘ไอทีวี’ ผ่านโลโก้แต่ละยุค
แนวคิดทีวีเสรีเกิดขึ้นในสมัยนายอานันท์ ปันยารชุน ที่นายกรัฐมนตรีอีกครั้งหลังเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 ทำให้รัฐบาลในขณะนั้น มีความสนใจที่จะตั้ง “ทีวีเสรี” ขึ้น เนื่องจากฟรีทีวียุคนั้นไม่ได้มีการนำเสนอข่าวเหตุการณ์นองเลือดตามความเป็นจริง มีเพียงสื่อจากต่างประเทศเท่านั้นที่ออกอากาศเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” ได้ ประกอบมีการเรียกร้องของประชาชนในเวลานั้น จึงทำให้โครงการก่อตั้งสถานีโทรทัศน์เสรี ในระบบ UHF ได้ถือกำเนิดขึ้น
ถือเป็นสถานีที่เกิดขึ้นมาด้วยเลือดเนื้อและการสูญเสียของประชาชนในปี 2535…
เปิดสัมปทาน-หาผู้ประกอบการ
ปี 2538 รัฐเปิดให้ประมูลสัมปทานทีวีเสรี ดยมีเจ้าภาพ คือ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) กำหนดเงื่อนไขในการประมูล คือ
- ผู้รับสัมปทานจะต้องมีผู้ถือหุ้น 10 ราย แต่ละรายต้องมีสัดส่วนหุ้นที่เท่ากัน
- บริษัทที่ประมูลได้ต้องพร้อมกับแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน เพื่อป้องกันการผูกขาด
- มีสัดส่วนเนื้อหารายการข่าวและสาระ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 และรายการบันเทิงไม่เกินร้อยละ 30
มี 5 กลุ่มบริษัทที่ร่วมเข้าการประมูลในครั้งนั้น ได้แก่
ไทยพลับบิคเทเลวิชชั่น | สยามทีวีแอนด์คอมมูนิเคชั่น | บางกอกบรอดคาสติ้งคอร์ปเรชั่น | เยนเนอราลบรอดคาสติ้งแอนด์คอมมูนิเคชั่น | ยูนิเวอร์แซล บรอดคาสติ้ง |
---|---|---|---|---|
บจก.บอร์น แอนด์ เอสโซซิเอทท์ | ธ.ไทยพาณิชย์ | บ.เทเลคอมโฮลดิ้ง | บางกอกเอนเตอร์เทนเมนต์ | ยูนิเวอร์แซล บรอดคาสติ้ง |
แปซิฟิก | เดลินิวส์ | มีเดียออฟมีเดียส์ | ไทยรัฐ | บ.วัชระ |
สามารถ | กันตนา | เครือ ธ.กสิกรไทย | บ.จีเอฟ | บ.สยามบรอดคาสติ้ง (เครือวัฏจักร) |
มติชน | บจก.สหศินิมา | อมรินทร์พริ้นติ้ง | ||
เนชั่น |
ผลปรากฏว่า กลุ่มบริษัท สยามทีวีแอนด์คอมมูนิเคชั่น จำกัด ได้รับอนุมัติให้ดำเนินงาน โครงการสถานีโทรทัศน์เสรีช่องใหม่ จาก สปน.
โดยได้ก่อตั้ง บริษัท สยาม อินโฟเทนเมนท์ จำกัด เพื่อเป็นนิติบุคคลที่ดำเนินการสถานีฯ โดยมีการลงนามในสัญญาสัมปทานฯ เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2538
เสนอผลตอบแทนให้แก่รัฐเป็นจำนวนเงิน 25,200 ล้านบาท จากราคากลาง 10,000 ล้านบาท (ซึ่งในขณะนั้นถือว่าสูงมาก) ระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี สิ้นสุดในวันที่ 3 กรกฎาคม 2568
ต่อมา กลุ่มสยามอินโฟเทนเมนท์ ได้ดึงคู่แข่งที่เข้าร่วมประมูลแต่ไม่ได้รับเลือกเข้ามาด้วยบางส่วน เพื่อมาเป็นผู้ร่วมทุน
จึงมีผู้ร่วมทุนทั้งหมดประกอบด้วย สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ผ่าน สหศินิมา) เครือเนชั่น กันตนา กรุ๊ป เครือวัฏจักร หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ล็อกซเล่ย์ฯ บอร์น และ ไจแอนท์ฯ (โดยไอเอ็นเอ็น ดอกเบี้ย และตงฮั้ว ถอนตัวออกไปก่อนหน้าแล้ว)
มีการเปิดรับสมัครพนักงานใหม่ พร้อมทั้งดึงบุคลากรจากบริษัทผู้ร่วมทุนเข้ามาร่วมปลุกปั้นทีวีเสรีแห่งนี้ให้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเนชั่น จากมติชน จากฐานเศรษฐกิจ จากประชาชาติธุรกิจ จากช่อง 3 บ้าง จากช่อง 9 จากไทยสกาย จากเคเบิ้ล
ถ้าจากเนชั่น สุทธิชัย หยุ่น ดึง เทพชัย หย่อง, ก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ เข้ามาช่วย ส่วนมติชน ได้แก่ จอม เพชรประดับ และจากแปซิฟิก ก็ได้ กิตติ สิงหาปัด มาเสริม และยังมีคนอื่นๆ อีกมากมายที่ไม่ได้กล่าวถึง
คุณจอม เพชรประดับเล่าไว้ใน Mediainsideout ว่า “สิ่งแรกที่เราอยู่ด้วยกัน ก็คือ เรามานั่งทบทวนว่าทุกคนคิดอย่างไรกับทีวีเสรีที่เอกชนทำเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ขบคิดกันอยู่ประมาณ 6 เดือนนะครับ ช่วงนั้นเรานั่งรับเงินเดือนจากบริษัท แต่เราไม่มีรายการ เราไม่มีช่องออกอากาศ แต่เรามานั่งขบคิดกันตั้งแต่ว่า โจทย์แรกก็คือว่า คำว่าทีวีเสรี เราเสรียังไงได้บ้าง เราจะเสรีอย่างไรได้บ้าง”
คุณจอมกล่าวอีกว่า “คุณสุทธิชัยประกาศชัดในเวทีของการประชุมในวันนั้น บอกว่า ‘ผมจะขอทำทีวีช่องนี้เป็นช่องสุดท้ายในชีวิตผม’ คือพูดอย่างนี้จริงๆ แล้วพูดบ่อยมาก”
“ผมเหนื่อยมาพอแล้ว ผมจะทำให้เห็นว่าทีวีเสรีมันเกิดขึ้นได้จริงๆ” คุณจอมบอกว่านี่คืออีกคำพูดของสุทธิชัย หยุ่น ในขณะนั้น
ในที่สุดก็ได้ตั้งชื่อสถานีแห่งนี้ว่า “ไอทีวี” พร้อมกับสโลแกน “ไอทีวี ทีวีเสรี”
คุณนราการ ติยายน ซึ่งขณะนั้นเธอเป็นผู้ประกาศข่าวในยุคบุกเบิกในไอทีวี เขียนเล่าไว้ในหนังสือชีวประวัติของเธอว่า “ไอทีวีเป็นสถานีใหม่ การจะเปิดตัวให้ฮือฮา ต้องสร้างความแตกต่าง อะไรที่เขาเคยทำมาก่อนเราไม่ทำ ทุกคนที่เข้ามาที่นี่ต้องเริ่มใหม่จากจุดเดียวกัน เพื่อสร้างวัฒนธรรมแบบไอทีวี”
คุณนรากรยังยอมรับเลยว่าตอนแรกๆ ไม่มีใครรู้จักเลยว่าอะไรคือไอทีวี และมักจะถามเธอว่า “ไอทีวีคืออะไร ? เคเบิลทีวีหรอ ?”
เนื่องจากไอทีวียังไม่มีใครรู้จัก เพราะยังไม่ได้ออกอากาศจริง กว่าจะได้สัมภาษณ์เธอต้องอธิบายให้แหล่งข่าวรู้จักกับไอทีวีก่อน และต้องทำอย่างนี้ซ้ำๆ ทุกครั้งที่ไปทำข่าว
ไอทีวี ยุคที่ 1 : พ.ศ. 2539 – 2540
หลังจากเตรียมการทีวีเสรีมา 6 เดือน ไอทีวีก็ได้ฤกษ์ออกอากาศในวันที่ 1 กรกฎาคม 2539 เวลา 19.00 น. โดยเริ่มต้นจากการนำเสนอ “ข่าวภาคค่ำ” ซึ่งมีพิธีกรคู่แรกนั่นคือ คุณเทพชัย หย่อง และ คุณกิตติ สิงหาปัด ในปัจจุบันทั้งคู่ก็ยังอยู่ในแวดวงการสื่อสารมวลชนทั้งคู่ โดยเริ่มออกอากาศจากสำนักงานของธนาคารไทยพาณิชย์
ปีแรกในการออกอากาศที่เกิดการนำเสนอข่าวในรูปแบบที่เปิดกว้างและแปลกใหม่ให้กับผู้ชม เช่น มีการรายการวิเคราะห์ข่าวอย่าง ‘เนชั่นนิวส์ทอล์ก’, มีรายการสัมภาษณ์คนดังอย่าง ‘ไอทีวีทอล์ค’, รายการข่าวสืบสวนเชิงลึกเจาะลึกอย่าง ‘ถอดรหัส’ และ ‘ย้อนรอย’, รายงานครบรอบ 20 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลา 19, การติดตามผลการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. 2539 โดยร่วมกับ อสมท. เป็นต้น
ต่อมาในปี พ.ศ.2540 ก็ได้ตั้งสถานีส่งรวม 36 สถานี ให้บริการครอบคลุมภาคกลาง ภาคอีสาน ภาคตะวันออก และภาคใต้บางจังหวัด
แต่ด้วยรูปแบบตามข้อตกลงในสัญญา ที่สถานีที่เน้นสาระ 70% (ที่เหลือเป็นบันเทิงอีก 30%) และจะต้องอยู่ในช่วงเวลาระหว่าง 19.00-21.30 ซึ่งเป็นช่วงไพรม์ไทม์ของทีวี ประกอบกับการเข้าสู่ยุควิกฤตเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง” ทำให้ไอทีวีในช่วงนั้น มีผลประกอบที่ขาดทุนในเวลาต่อมา
ไอทีวี ยุคที่ 2 : พ.ศ. 2540 – 2544
ไม่ถึงหนึ่งปีให้หลัง ‘ไอทีวี’ ก็ต้องเปลี่ยนโลโก้สถานี เพราะไปใกล้เคียงกับตราสัญลักษณ์ในต่างประเทศ และต่อมาไอทีวีได้ว่าจ้างให้บริษัทจากต่างประเทศ ออกแบบทั้งโลโก้ กราฟฟิก ฯลฯ ให้
จะเห็นได้ว่ากราฟฟิกในยุคนี้จะมีความทันสมัยกว่าช่องอื่นๆ อย่างชัดเจน แต่ความวุ่นวายในไอทีวีก็มีมากมายฝุ่นตลบ ต่างจากหน้าจอทีวีที่ดูสงบเรียบร้อยดี
20 ตุลาคม พ.ศ. 2541 บริษัท สยาม อินโฟเทนเมนท์ จำกัด แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนตามที่กำหนดไว้ในสัญญาสัมปทาน พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน)
พ.ศ. 2542 ได้มีการติดตั้งสถานีส่งสัญญาณจากยอดอาคารใบหยก 2 และมีสถานีเครือข่ายทั้งสิ้น 52 แห่งทั่วประเทศ นับเป็นสถานีโทรทัศน์ที่มีเครือข่ายมากที่สุด ครอบคลุมจำนวนผู้รับชม ประมาณ 98% ของประชากรในประเทศไทย
ต่อมารัฐบาลในยุคของชวน หลีกภัย ได้มีการแก้สัญญาสัมปทาน (โดยแก้ให้ผู้ถือหุ้นสามารถถือหุ้นไอทีวีได้เกิน 10% และสามารถให้มีการซื้อขายหุ้นได้) หลังจากไอทีวีประสบปัญหาด้านการเงินอย่างหนัก
แต่อย่างไรก็ตามปัญหาอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในยุคนี้ ก็มีความขัดแย้งระหว่าง ‘ไทยพาณิชย์’ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ กับ ‘เนชั่น’ หนึ่งในผู้ถึงหุ้นทั้ง 13 ราย ที่ได้รับผลประโยชน์มากที่สุดในขณะนั้น (อ่านต่อที่ http://info.gotomanager.com/news/details.aspx?id=1282) ซึ่งลงเอยด้วยการปรับโครงสร้างการบริหารงานอีกครั้งหนึ่ง
พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 หลัง ‘ไทยพาณิชย์’ ประสบปัญหาในการบริหารสถานีฯ จึงได้ขายหุ้นให้ ‘ชินคอร์ป’ (เนื่องจากมีการแก้สัญญาสัมปทานแล้ว) ส่งผลให้พนักงานฝ่ายข่าวของสถานีฯ บางส่วนไม่เห็นด้วย
ไอทีวี ยุคที่ 3 : พ.ศ. 2544 – 2547
ถึงแม้โลโก้ กราฟฟิก ‘ไอทีวี’ จะเข้าสู่ยุคที่สาม แต่ความวุ่นวายก็ยังเกิดขึ้นอีกหลายระลอก ซึ่งหากเรามองหน้าจอไอทีวีในยุคนี้จะพบว่ากราฟฟิกแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ซึ่งแตกต่างกันถามผู้ถือหุ้นที่เปลี่ยนไปก็เป็นได้
13 พ.ย. 2544 มีการเปลี่ยนโครงสร้างการถือหุ้นของบริษัทจาก ‘ไทยพาณิชย์’ เป็นกลุ่ม ‘ชินคอร์ป’ พร้อมกับเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อย่างเป็นทางการ
ระหว่างนั้นมีกลุ่มนักข่าว 23 คน ออกมาแสดงจุดยืนต่อต้านการแทรกแซงฝ่ายบริหาร ทำให้พวกเขาถูกเลิกจ้างและกลายมาเป็น ‘กบฏไอทีวี’ ในเวลาต่อมา จากนั้นก้ได้มีการฟ้องร้องเรื่องการเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งก็มีผลสรุปออกมาว่านักข่าวเป็นผู้ชนะคดี
13 มี.ค. 2545 บริษัทเข้าจดในตลาดหลักทรัพย์ในปี 2546 พร้อมกับย้ายไปยังที่ทำการใหม่ คือ “อาคารชินวัตรเทาเวอร์ 3”
30 ม.ค. 2547 อนุญาโตตุลาการได้มีคำวินิจฉัยหลังการยื่นแก้ไขสัญญาสัมปทาน ดังนี้
– ลดค่าสัมปทานเป็นปี 230 ล้านบาท
– แก้ไขสัดส่วนรายการเป็น สาระ 50% บันเทิง 50%
– ให้รัฐจ่ายค่าชดเชย 20 ล้านบาท เนื่องจาก สปน. ไม่ได้ใช้การคุ้มครองตามสัญญาสัมปทาน
– ช่วง Prime Time 19:00-21:30 น. ไม่จำเป็นต้องเป็นรายการข่าว สารคดี สาระประโยชน์ แต่ชนิดรายการดังกล่าวต้องต้องไม่น้อยกว่า 50% ของเวลาการออกอากาศทั้งหมด
ซึ่งแน่นอนว่า ในเวลาต่อมา ไอทีวีก็ปรับผังรายการตามคำวินิจฉัยอนุญาโตตุลาการ ในช่วง เม.ย. 2547
ไอทีวี ยุคที่ 4 : พ.ศ. 2547 – 2550
ไอทีวี เข้าสู่การปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์อีกครั้งในปี พ.ศ.2547 รวมถึงการปรับผังรายการครั้งยิ่งใหญ่ เพื่อนำไอทีวีไปสู่ความทันสมัย และต่อสู้กับคู่แข่งอีก 5 ช่องให้ได้
โลโก้ไอทีวีมีการปรับเปลี่ยนไปจากยุคที่สามเล็กน้อย ด้วยการตัดรายละเอียดคำว่า “ทีวีเสรี” และเส้นสามสีออก เพื่อให้นำสมัยมากขึ้น
ข่าวไอทีวีในยุคนี้มีกราฟิคเป็นเอกลักษณ์ที่ชัดเจน ด้วย “สีแดง” “เส้นพุ่ง” และเสียง “ติ๊ด ติ๊ด” ที่แค่ได้ยินก็รู้ว่าเป็นไอทีวี
แต่ด้วยการเพิ่มสัดส่วนรายการ “บันเทิง” เพื่อเพิ่มเรตติ้งในยุคนี้ กลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นของอวสานไอทีวี เพราะท้ายที่สุด 13 ธันวาคม 2549 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำวินิจฉัยว่า การขอแก้ไขสัญญาสัมปทานของไอทีวีนั้น “มิชอบด้วยกฎหมาย” จึงได้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ และสั่งให้ไอทีวีต้องจ่ายค่าสัมปทานปีละ 1,000 ล้านบาทเช่นเดิม รวมถึงต้องปรับผังรายการให้เป็นไปตามสัดส่วนเดิมด้วย
นอกจากนั้นไอทีวียังต้องเสีย “ค่าปรับ” สำหรับการผิดสัญญาสัมปทานตั้งแต่วันแรกที่เริ่มปรับผังรายการบันเทิงเกินสัดส่วน 30% เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ซึ่งเมื่อคิดเป็นรายวัน ไอทีวีต้องเสียค่าปรับถึงวันละ 100 ล้านบาท รวมค่าปรับทั้งหมดที่ไอทีวีต้องชำระสูงถึง 8 หมื่น 4 พันล้านบาท เกินความสามารถของบริษัทมหาชนที่จะรับไหว
เมื่อไอทีวีไม่สามารถชำระค่าปรับอันมหาศาลนั้นได้ จึงถูกบอกยกเลิกสัญญาสัมปทาน และเกิดการเปลี่ยนผ่านชั่วคราวไปสู่ “ทีไอทีวี” (TITV) เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2550 หลังจากนั้นจึงได้ก่อกำเนิดทีวีสาธารณะแห่งแรกของไทย “ไทยพีบีเอส” (ThaiPBS) ในอีก 1 ปีถัดมา (15 มกราคม 2551)