ถึงแม้ว่าสถานีโทรทัศน์ไอทีวี (itv) ที่ออกอากาศในระบบ UHF จะสามารถออกอากาศได้อย่างต่อเนื่องในวันที่ 8 มีนาคม 2550 ถึงแม้ว่าบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ต้องถูกยกเลิกสัญญาสัมปทานกับ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) และต้องเปลี่ยนชื่อในการออกอากาศเป็นสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี (TITV) โดยโอนให้มาอยู่ภายใต้กำกับดูแลของกรมประชาสัมพันธ์ (ตามได้รับมอบหมายจาก สปน.) ในรูปแบบหน่วยงานพิเศษ (Service Delivery Unit – SDU) ก็ตาม
แต่ในที่สุดวันที่ 14 มกราคม 2551 TITV ได้รับแฟกซ์คำสั่งกรมประชาสัมพันธ์ (ลงนามโดยนายปราโมท รัฐวินิจ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ในขณะนั้น) ให้ยุติการออกอากาศในเวลาเที่ยงคืน เพื่อรอเปลี่ยนเป็นทีวีสาธารณะตามบทเฉพาะกาลของพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 (เรียกสั้น ๆ ว่า พ.ร.บ.ทีวีสาธารณะ) คำสั่งดังกล่าวมีเนื้อหาดังนี้
คำสั่งกรมประชาสัมพันธ์
ที่ 25/2551
เรื่อง ให้สถานีวิทยุโทรทัศน์ ระบบ ยู เอช เอฟ ปฏิบัติตามพรบ.องค์การกระจายเสียง
และแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551
……………………………………….
ด้วย พระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 125 ตอนที่ 8 ก วันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2551 และให้ใช้บังคับใช้ในวันถัดจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
เพื่อให้การดำเนินกิจการขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย เป็นไปตามพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงให้สถานีวิทยุโทรทัศน์ ระบบ ยู เอช เอฟ (ทีไอทีวี) ยุติการแพร่ภาพออกอากาศ ตั้งแต่เวลา 24.00 น. ของวันที่ 14 มกราคม 2551 เป็นต้นไป
สั่ง ณ วันที่ 14 มกราคม 2551
นายปราโมช รัฐวินิจ
อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์
ต่อมาในเวลา 23:50 น. โดยประมาณ ของวันเดียวกัน TITV ออกแถลงการณ์ต่อการเปลี่ยนแปลงสถานีจากทีวีเสรีสู่ทีวีสาธารณะ มีสาระสำคัญ คือ
- นำตัวแทนของ TITV แจ้งความดำเนินคดีกับอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ในขณะนั้น ข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ที่ ส.น.พหลโยธิน
- พนักงาน TITV จะไปยื่นขอให้ศาลออกคำสั่งคุ้มครองฉุกเฉิน ที่ศาลปกครองกลางในวันรุ่งขึ้น (15 มกราคม 2551) เนื่องจากคำสั่งของกรมประชาสัมพันธ์เป็นคำสั่งที่แจ้งอย่างกะทันหัน ซึ่งก่อนหน้านี้ (7 มีนาคม 2550) ศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้ไอทีวี-ทีไอทีวีออกอากาศได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงไม่มีทิศทางที่ชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไรกับพนักงานทีไอทีวีร่วม 850 คน (พ.ร.บ.ทีวีสาธารณะให้เวลาเปลี่ยนผ่านถึง 180 วัน)
- พนักงาน TITV ยืนยันว่าเห็นด้วยกับทีวีสาธารณะ และพร้อมปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ทีวีสาธารณะ และจะไปยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อนายกรัฐมนตรี (ในขณะนั้นคือ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์) เพื่อจะขอความมั่นใจว่าการเปลี่ยนผ่านไปสู่ทีวีสาธารณะจะไม่ผลประโยชน์ตกอยู่ภายใต้อำนาจของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
“และทั้งหมดก็เป็นสิ่งที่พนักงาน TITV ทุกคนขอกราบขอบพระคุณท่านผู้ชมทุกท่านที่ใช้การสนับสนุน ให้การติดตามสถานีโทรทัศน์แห่งนี้มาโดยตลอดนะครับ แม้ว่าหลังเที่ยงคืนนี้ไปแล้วจะไม่ได้เห็นหน้าพวกเราต่อไป ไม่เห็นการทำงานของพวกเราต่อไป แต่พวกเราสัญญาครับว่าพวกเราจะพยายามอย่างเต็มที่ในการที่จะนำมาซึ่งข่าวสารที่เป็นกลางและยุติธรรมแก่ท่านผู้ชมทุกท่านครับ” นายธีรัตถ์ รัตนเสวี ผู้ประกาศชาย กล่าวสรุปตอนท้าย
“มีโอกาสได้พบกันใหม่ สำหรับวันนี้ค่ะ” ประโยคสุดท้ายจากนางสาวศศิวรรณ เลิศวิริยะประภา ผู้ประกาศหญิง
หลังจากนั้นสถานีโทรทัศน์ TITV ออกอากาศรายการทไวไลท์ โชว์ ทูไนท์ จนถึงเวลา 00.08 น. ของวันที่ 15 มกราคม 2551 โดยยังออกอาการรายการดังกล่าวยังไม่จบ ทางสถานีโทรทัศน์ TITV ได้ตัดสัญญาณภาพเพื่อยุติการออกอากาศ และได้เชื่อมสัญญาณโทรทัศน์จากกรมประชาสัมพันธ์ เพื่อเริ่มออกอากาศสถานีโทรทัศน์ TPBS (ปัจจุบันคือสถานีโทรทัศน์ ThaiPBS) โดยขึ้นข้อความ ดังนี้
เนื่องจากพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551 ได้มีผลบังคับใช้แล้ว จึงต้องโอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน งบประมาณ หนี้ สิทธิ คลื่นความถี่ของสถานีโทรทัศน์ TITV ไปเป็นองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย และเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ขององค์การฯ ดังต่อไปนี้
1. ดำเนินกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ที่จะสนับสนุนการพัฒนาสังคมที่มีคุณภาพและคุณธรรม บนพื้นฐานของความเป็นไทย โดยผ่านทางบริการข่าวสารที่เที่ยงตรงรอบด้าน สมดุล และซื่อตรง
2. ผลิตรายการทางด้านข่าวสารสาระประโยชน์ทางด้านการศึกษาและสาระบันเทิง ที่มีสัดส่วนอย่างเหมาะสมและมีคุณภาพสูง เน้นความหลากหลายในมิติต่าง ๆ โดยมุ่งดำเนินการอย่างปราศจากอคติทางการเมือง และผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ และยึดถือผลประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ
3. ส่งเสริมให้ความรู้แก่ประชาชนให้ก้าวหน้า ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก เพื่อประโยชน์ทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น ผ่านทางการให้บริการข่าวสารและสาระประโยชน์อื่น
4. ส่งเสริมเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสารเพื่อสร้างสังคมประชาธิปไตยที่ประชาชนได้รับข่าวสารอย่างเท่าเทียมกัน
5. สนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม ในการกำหนดทิศทางขององค์การเพื่อประโยชน์สาธารณะ
6. สนับสนุนกิจกรรมสาธารณะประโยชน์อื่น
บทเฉพาะกาลของ พ.ร.บ.ทีวีสาธารณะ ระบุให้สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี โอนบรรดากิจการ อำนาจหน้าที่ ทรัพย์สิน งบประมาณ หนี้ สิทธิ คลื่นความถี่ และภาระผูกพันของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ไปสู่ทีวีสาธารณะแห่งใหม่ (ปัจจุบันคือ ThaiPBS) แต่ไม่โอนคดีและข้อพิพาทที่มีอยู่มาด้วย