ย้อนรอยภาพยนตร์ฟอร์มใหญ่ 3 เรื่อง ที่ยืนยันไม่ยอมหั่นเนื้อหา LGBTQ+ หลัง Lightyear ถูกสั่งห้ามฉายใน 14 ประเทศ
แม้จะเข้าสู่ช่วงสัปดาห์ท้าย ๆ ของเดือน Pride Month แต่บรรยากาศการเฉลิมฉลองความหลากลายทางเพศในหลายพื้นที่ก็ยังคงต่อเนื่องไม่มีแผ่ว โดยเฉพาะบางประเทศที่วางแผนจัดกิจกรรมเกี่ยวกับ LGBTQ+ กันยาว ๆ ไปจนถึงสิ้นปี สำหรับบ้านเรา เดือนมิถุนายนนี้ก็มีประเด็นเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศให้ได้ติดตามกัน อย่างการลงมติของสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2565 เพื่อรับร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ซึ่งถูกเสนอโดย ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส. พรรคก้าวไกล โดยคงต้องจับตาดูกันต่อไปว่าในการพิจารณาวาระที่ 2 และ 3 ร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวจะมีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง
ไม่เพียงแค่ในสภา หรือ พื้นที่สาธารณะเท่านั้น แต่ในแวดวงสื่อภาพยนตร์เอง ก็มีเรื่องเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศให้ได้เอ่ยถึงอยู่ไม่ขาด อย่างล่าสุดกับประเด็นภาพยนตร์เรื่อง Lightyear แอนิเมชั่นจากค่าย Disney Pixar ที่ถูกสั่งห้ามฉายใน 14 ประเทศแถบตะวันออกกลางและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากมีฉากจูบสั้น ๆ ระหว่างตัวละครผู้หญิง 2 คน
LGBTQ+ กับภาพยนตร์ คงไม่ใช่เรื่องใหม่เท่าไหร่นัก โดยเฉพาะสำหรับหนังฟอร์มเล็ก หรือภาพยนตร์ที่ไม่ได้จัดอยู่ในกระแสหลัก แต่สำหรับภาพยนตร์ Mainstream ที่ทุนสร้างสูงแซงหลักร้อยล้านเหรียญ ที่ต้องหวังพึ่งกำไรจากตลาดโรงภาพยนตร์ในหลายประเทศทั่วโลก การนำเสนอภาพตัวละคร LGBTQ+ ก็ยังถือเป็นความท้าทาย และไม่ได้มีมาให้ดูกันบ่อย ๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสิ่งที่ตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้ นั่นคือการร้องขอให้เซ็นเซอร์ หรือตัดบางส่วนของภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้องกับผู้มีความหลากหลายทางเพศออก จากประเทศซึ่งยังมีค่านิยม หรือมุมมองต่อการรักเพศเดียวกั ว่าขัดต่อหลักศาสนา หรือบรรทัดฐานบางอย่าง
ในอดีตมีภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์หลากหลายเรื่องที่ต้องจำยอม ตัดบางส่วนของหนังที่มีการนำเสนอเรื่องราวความหลากหลายทางเพศออก เพื่อให้ได้ฉายในโรงภาพยนตร์บางประเทศ เช่น Star Wars: The Rise of Skywalker (2019) ก็ได้มีการนำฉากจูบของตัวละครเพศเดียวกันออกเพื่อให้สามารถฉายใน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ หรืออย่างล่าสุด ภาพยนตร์เฟรนไชส์ภาคต่ออย่าง Fantastic Beasts: The Secrets of Dumbledore (2022) ก็ได้มีการตัดบทสนทนา 6 วินาที ที่พูดถึงความสัมพันธ์เชิงรักใคร่ของสองตัวละครนำชายออก เพื่อให้ได้ฉายในประเทศจีน ซึ่งถือเป็นอีกตลาดใหญ่ที่หนังฟอร์มยักษ์ทั้งหลายหมายปองจะกวาดรายได้
ถึงกระนั้น ในช่วงปีที่ผ่านมาอีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่น่าจับตาอย่างมากสำหรับแวดวงภาพยนตร์ Mainstream นั่นก็คือการปฏิเสธที่จะตัดฉากเกี่ยวกับ LGBTQ+ ออก และยอมกัดฟันไม่ฉายในบางประเทศ โดยชัดเจนที่สุดก็คงเป็นค่ายหนังยักษ์ใหญ่อย่าง Disney ซึ่งนับตั้งแต่ปลายปี 2021 มีการปฏิเสธที่จะเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ทุนสร้างสูงในเครือถึง 4 เรื่อง และทำให้ไม่ได้เข้าฉายในหลายประเทศโดยเฉพาะแถบตะวันออกกลางที่นับถือศาสนาอิสลามเป็นหลัก
Table of Contents
Eternals
ภาพยนตร์ซุปเปอร์ฮีโร่รวมนักแสดงหลากสัญชาติ ของผู้กำกับดีกรีออสการ์อย่าง Chloé Zhao ได้กลายเป็นภาพยนตร์จากค่าย Marvel Studio ในเครือ Disney เรื่องแรก ซึ่งนำเสนอภาพตัวละครฮีโร่ที่เป็นเกย์อย่างเปิดเผย โดยในเรื่องได้มีการฉายภาพตัวละคร Phastos (รับบทโดย Brian Tyree Henry) ซุปเปอร์ฮีโร่ผู้สามารดัดแปลงเทคโนโลยีได้ทุกรูปแบบ ขณะใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวทั้งคนรักและลูกชาย ซึ่งประเด็นนี้ก็ได้กลายเป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวาง และนับเป็นหมุดหมายสำคัญของการนำเสนอภาพ LGBTQ+ ในบทบาทซุปเปอร์ฮีโร่ครั้งแรกของค่าย Marvel
โดยหลังจากประกาศฉายทั่วโลกในช่วงเดือนพฤศจิกายน ปี 2021 Eternals ก็ถูกร้องขอให้ตัดฉากที่พูดถึงชีวิตครอบครัวของตัวละคร Phastos ออก ซึ่งทางผู้กับกับ Chloé Zhao และทีมผู้บริหารค่าย Marvel ก็ได้ยืนยันหนักแน่นที่จะไม่ตัดฉากเหล่านั้นออก จนสุดท้ายภาพยนตร์ก็ถูกสั่งห้ามฉายในประเทศ ซาอุดิอาระเบีย การ์ตา และคูเวต
West Side Story
ผลงานรีเมคจากภาพยนตร์คลาสสิคในชื่อเดียวกันเมื่อปี 1961 โดยเวอร์ชั่นนี้ได้ผู้กำกับระดับตำนานอย่าง Steven Spielberg มานั่งแท่นพร้อมร่วมอำนวยการสร้าง โดยหลังประกาศฉายในช่วงเดือนธันวาคมของปีที่แล้ว West Side Story ซึ่งจัดจำหน่ายโดย 20th Century Studios ที่ขณะนี้อยู่ในเครือ Disney ก็ถูกสั่งห้ามฉายในหลายประเทศ ทั้งซาอุดิอาระเบีย การ์ตา คูเวต บาห์เรน โอมาน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เนื่องจากมีการนำเสนอภาพตัวละครซึ่งเป็นทรานส์เจนเดอร์ อย่าง Anybodys (รับบทโดยนักแสดง Non-Binary Iris Menas)
โดยในภาพยนตร์ฉบับปี 1961 เพศสภาพของ Anybodys ถูกนำเสนอไว้อย่างคลุมเครือ แม้ว่าหนึ่งในผู้เขียนบทละครเวทีต้นฉบับอย่าง Arthur Laurents จะเคยออกมายืนยันว่าตัวละคร Anyodys เป็นทรานส์เจนเดอร์แล้วก็ตาม ทำให้หลังจากมีการตัดสินใจหยิบ West Side Story มkรีเมคอีกครั้ง ทางผู้สร้างจึงมีการปรับบท ให้สื่อถึงความเป็นทรานส์อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น และแม้จะมีการร้องขอให้ตัดฉากที่เกี่ยวข้องกับ Anybodys ออก แต่ทางผู้บริหารของ Disney ก็ยังยืนกรานที่จะไม่เซนเซอร์
Doctor Strange in the Multiverse of Madness
เรียกได้ว่าเป็น Talk of the town ไปพักหนึ่งหลังภาพยนตร์ซุปเปอร์ฮีโร่ภาคต่อที่แฟนหนัง Marvel รอคอยกันนานเกือบ 6 ปี อย่าง Doctor Strange in the Multiverse of Madness ถูกสั่งห้ามฉายในประเทศซาอุดิอาระเบีย เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา หลังมีการส่งคำร้องจากกองเซ็นเซอร์ ขอให้ตัดฉากซึ่งอ้างอิงถึงตัวละครคู่รัก หญิง-หญิง ออก
โดย Doctor Strange ภาคนี้ได้มีการแนะนำตัวละครใหม่อย่าง America Chavez (รับบทโดย Xochitl Gomez) เด็กสาวผู้มีพลังเปิดมิติระหว่างจักรวาล ซึ่งในฉบับหนังสือการ์ตูนก็ระบุอย่างชัดเจนว่าเธอมีรสนิยมชื่นชอบเพศเดียวกัน อย่างไรก็ตาม แม้ในเวอร์ชั่นภาพยนตร์จะยังไม่มีการพูดถึงเพศวิถีของ America แต่ก็มีฉากที่ฉายภาพแม่ทั้ง 2 ของเธอที่เป็นคู่รักกัน โดยฉากดังกล่าวกินเวลาเพียงประมาณ 12 วินาที ซึ่งหลังจากมีการส่งคำขอให้นำฉากช่วงนั้นออก ทางผู้บริหาร Disney ก็ยังคงปฏิเสธข้อเรียกร้อง เหมือนที่เคยทำกับ Eternals และ West Side Story จนสุดท้าย ภาพยนตร์ก็ไม่ได้ฉายในซาอุดิอาระเบีย
ล่าสุด Disney+ Hotstar ได้นำภาพยนตร์เรื่องนี้ลงในแพลตฟอร์ม ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป ใครสนใจเข้าไปรับชมกันได้เลย
Lightyear
และล่าสุดกับภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ทุนสร้าง 200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากค่าย Disney Pixar อย่าง Lightyear ซึ่งก็เพิ่งถูกสั่งห้ามฉายไปในประเทศมุสลิมแถบตะวันออกกลางทั้ง บาห์เรน อิยิปต์ อิรัก คูเวต เลบานอน โอมาน การ์ตา ซาอุดิอาระเบีย ซีรีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รวมถึงประเทศในแถบอาเซียอย่าง อินโดนิเซีย และล่าสุดมาเลเซีย
โดยแอนิเมชั่นเรื่องนี้ที่ได้แรงบันดาลใจต่อยอดมาจาก ตัวละครนำในการ์ตูนคลาสสิคอย่าง Buzz Lightyear จาก Toy Story ซึ่งในเรื่องได้มีการฉายภาพตัวละครมนุษย์อวกาศหญิง Alisha Hawthorne (ให้เสียงโดย Uzo Aduba) จูบกับคู่รักเพศเดียวกันของเธอเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ซึ่งแน่นอนว่าได้รับการร้องเรียนจากกองเซ็นเซอร์หลายประเทศ เนื่องจากมองว่าเป็นเรื่องไม่เหมาะสมที่จะนำเสนอประเด็น LGBTQ+ ในภาพยนตร์สำหรับเด็ก โดยทางผู้บริหาร Disney ก็ยังคงแสดงจุดยืมเช่นเดิมที่จะไม่โอนอ่อนตามคำเรียกร้อง
ปัจจุบันการชื่นชอบเพศเดียวกัน หรือ Homosexuality นั้น ยังถือเป็นประเด็นผิดกฎหมายในหลายประเทศ โดยเฉพาะในรัฐที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม กฎหมายในประเทศเหล่านี้มักบัญญัติให้มีการลงโทษ LGBTQ+ ในหลายรูปแบบ ตั้งแต่จับกุม ขังคุก ทำโทษในที่สาธารณะ ไปจนถึงประหารชีวิต ซึ่งในแง่ของสื่อ เป็นปกติที่ประเทศมุสลิมเหล่านี้จะมีกองเซ็นเซอร์ซึ่งคอยคัดกรองภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับ LGBTQ+ ให้ไม่ได้ฉายภายในประเทศ และสำหรับภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ที่นำเสนอภาพผู้มีความหลากหลายทางเพศบางส่วน ก็มักจะถูกยื่นคำร้องขอให้ตัดฉากเหล่านั้นออก
แม้ในอดีตภาพยนตร์หลายเรื่องจะตัดสินใจโอนอ่อนตามคำเรียกร้อง เพื่อการันตีว่าจะยังสามารถทำกำไรจากประเทศเหล่านั้นได้ แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับ Disney ที่ไม่ยอมผ่อนผัน ตัดเนื้อหาเกี่ยวกับ LGBTQ+ ออกเลย แม้จะมีความยาวเพียงน้อยนิดก็ตาม เรียกได้ว่าเป็นก้าวสำคัญของการแสดงออกเพื่อยืนหยัดข้างกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ และเป็นประเด็นที่น่าจับตาต่อไปว่า จะมีค่ายหนังใหญ่อีกสักกี่อีกค่าย ที่กล้าหาญพอจะเจริญรอยตาม
By: M. Jongwilai