5 ปีกว่าของ คสช. ใช้เวลา “คืนวันศุกร์” ของทีวีไปนานแค่ไหน?

หาเสียงล่วงหน้า? “ยามเฝ้าจอ” พบตลอด 5 ปีกว่าที่ คสช. ปกครองประเทศ ตั้งแต่ปี 2557-2562 ออกอากาศรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” และ “ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” กินเวลาทีวีกว่า 156 ชั่วโมง


เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตัดสินใจทำการรัฐประหารยึดอำนาจการปกครอง เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 นั่นถือเป็นจุดเริ่มต้นของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ยาวนานร่วม 5 ปี 1 เดือน 3 สัปดาห์ 3 วัน การส่งสารบางอย่างจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะการคงอยู่ของ คสช. ยังต้องพึ่งพิงเสียงจากผู้สนับสนุนบางฝ่าย ทำให้ยุทธวิธีที่ คสช. เลือกใช้จึงหนีไม่พ้นการสื่อสารผ่านหน้าจอโทรทัศน์ เพราะเข้าถึงบางกลุ่มวัยที่ยังรับข้อมูลข่าวสารและความบันเทิงจากจอสี่เหลี่ยมผืนผ้าแนวนอนได้เป็นอย่างดี

แต่ข้อเท็จจริงหนึ่งที่ไม่อาจหลีกหนีได้ คือ การใช้เวลาเพื่อประชาสัมพันธ์การทำงานของ คสช. และรัฐบาล กลับเลือกบีบให้ทุกคนต้องดูรายการของ คสช. ในช่วงหลังเคารพธงชาติ 18.00 น. ของวันจันทร์ถึงพฤหัสบดี ที่ชื่อว่า “เดินหน้าประเทศไทย” และรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” ที่ออกอากาศในวันศุกร์ ช่วง 20.30 น. โดยประมาณ ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งมีตำแหน่งเป็นหัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ดำเนินรายการตั้งแต่ 30 พฤษภาคม 2557 ถึง 22 มีนาคม 2562

และนี่คือข้อมูลที่เรารวบรวมไว้ ซึ่งเน้นไปที่รายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” (ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อรายการเป็น “ศาสคร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”) โดยพบว่าในปี 2557 มี 31 ตอน, ปี 2558-2561 มี 52 ตอนต่อปี และในปี 2563 มี 28 ตอน เมื่อเทียบไทม์ไลน์ของ พล.อ.ประยุทธ์ กับไทม์ไลน์ของรายการคืนความสุขฯ/ศาสตร์พระราชาฯ [1] จะเป็นดังนี้

  • 22 พฤษภาคม 2557: พล.อ.ประยุทธ์ ยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลรักษาการ
  • 30 พฤษภาคม 2557: รายการคืนความสุขฯ ออกอากาศครั้งแรก มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้ดำเนินรายการ [2]
  • 24 สิงหาคม 2557: พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯ สมัยที่ 1
  • 14 ตุลาคม 2559: งดออกอากาศรายการคืนความสุขฯ
  • 21 ตุลาคม 2559: เปลี่ยนชื่อรายการ จาก “คืนความสุขให้คนในชาติ” มาเป็น “ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”
  • 24 มีนาคม 2562: จัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป
  • 29 มีนาคม 2562: นายกฯ ดำเนินรายการ “ศาสตร์พระราชาฯ” เป็นครั้งสุดท้าย
  • เมษายน 2562: เปลี่ยนชื่อรายการ “เดินหน้าประเทศไทย” ช่วงวันจันทร์-พฤหัสบดี เป็น “ศาสตร์พระราชาฯ” ขณะที่รายการ “ศาสตร์พระราชาฯ” ในช่วง 20.30 น. วันศุกร์ ยังคงมีอยู่ ซึ่งทั้ง 2 รายการ จะปรับไปนำเสนอเนื้อหาสอดรับกับช่วงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และทั้ง 2 รายการออกอากาศในเวลาดังกล่าวทุกช่องดังเดิม
  • 5 มิถุนายน 2562: พรรคร่วมรัฐบาล 19 พรรค และสมาชิกวุฒิสภาทุกคน เลือก พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ
  • 9 มิถุนายน 2562: มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ สมัยที่ 2
  • 16 กรกฎาคม 2562: รายการศาสตร์พระราชาฯ ในช่วง 20.30 น. ออกอากาศเป็นครั้งสุดท้าย

ก่อนหน้านี้เราเคยรายงานว่า ล่าสุดเราได้อัปเดตรายละเอียดของจำนวนตอน และเวลาการออกอากาศรายการ “คืนความสุข/ศาสตร์พระราชา” ทั้งหมดได้ดังนี้

ปี พ.ศ.ความยาว (ชั่วโมง:นาที:วินาที)ความยาว (นาที)จำนวนตอน
255723:23:211403.3531
255836:22:59742.983333352
255933:23:32563.533333352
256029:44:23344.383333352
256122:42:531362.88333352
256210:30:56630.933333328
รวม156:08:045048.066667267
ข้อมูล: ยามเฝ้าจอ รวบรวม

การใช้เวลาทีวีของ คสช. ในช่วง 5 ปีกว่าที่ผ่านมา ถูกตั้งข้อสังเกตว่ากลายเป็นการสร้างบรรทัดฐานการเบียดเบียนเวลาทีวีโดยไม่จำเป็น ต่างจากนายกฯ คนก่อนๆ ที่ใช้เวลาของวิทยุและโทรทัศน์ของกรมประชาสัมพันธ์เพียงอย่างเดียว [3] เช่น

  • ทักษิณ ชินวัตร ออกอากาศรายการ “นายกฯทักษิณคุยกับประชาชน” ทาง FM 92.5 ทุกวันเสาร์ เวลา 08.00-09.00 น. ในช่วงหลังมีการออกอากาศผ่านสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 ควบคู่ไปด้วย
  • พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ จัดรายการ “เปิดบ้านพิษณุโลก” ออกอากาศทางช่อง 11 ทุกวันเสาร์ เวลา 08.30-09.20 น.
  • สมัคร สุนทรเวช มีรายการ “สนทนาประสาสมัคร” ออกอากาศทางช่อง 11/NBT ทุกวันอาทิตย์ 08.30-09.30 น. แต่บางครั้งก็มีการแถลงด่วนด้วยตัวเองผ่านทางช่อง 11/NBT
  • สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ก็มีรายการ “รัฐบาลของประชาชน” ออกอากาศทุกวันอาทิตย์ เวลา 08.30-09.30 น.
  • ขณะที่ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ออกอากาศรายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์” ออกอากาศทกุกวันอาทิตย์ เวลา 09.00-10.00 น.
  • “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ก็มีรายการ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน” จัดรายการทุกวันเสาร์ เวลา 08.00-09.00 น. ออกอากาศทางช่อง NBT และกระจายเสียงพร้อมกัน ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย

แต่เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ยังสามารถกลับเข้าเป็นนายกฯ ได้ต่ออีกสมัย ทำให้น่าคิดว่าการใช้เวลาของทีวีตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม 2557 จนถึง 22 มีนาคม 2562 ถือเป็นการใช้เวลาของโทรทัศน์ทุกช่องเพื่อหาเสียงสนับสนุนเป็นการล่วงหน้ามาก่อนหรือไม่

อีกทั้งเวลาไพรม์ไทม์ในช่วง 20.30-21.30 น. ที่เสียไปในแต่ละวันศุกร์ สามารถนำมาใช้ในการสร้างรายได้ในกับทีวีดิจิทัลที่มีสภาพการณ์ไม่สู้ดีนัก แต่ คสช. กลับมองว่าภารกิจของตนสำคัญเพียงอย่างเดียว ขณะที่สภาวะขาดทุนของทีวีดิจิทัลกลับเป็นเรื่องตามมีตามเกิด ไม่วางมาตรการช่วยอย่างชัดเจน และชดเชยเวลาของทีวีดิจิทัลที่ออกอากาศรายการเดินหน้าประเทศไทย และรายการคืนความสุขฯ/ศาสตร์พระราชาฯ เพียงแค่ครั้งเดียวเมื่อปี 2560

อีกข้อสังเกตที่น่าสนใจ พบว่านายกฯ พยายามแถลงด่วนผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทรท.) หรือ TV Pool อย่างพร่ำเพรื่อ [4] แต่เสียงตอบรับของประชาชนบางส่วนก็ไม่เห็นด้วยเพราะมาตรการที่ประกาศก็ไม่ใช่มาตรการเร่งด่วนจริงๆ และการใช้ ทรท. ในช่วงปี 2564 ดูมีลักษณะใกล้เคียงกับการบังคับออกอากาศรายการ “เดินหน้าประเทศไทย” ที่บังคับให้ทุกช่องออกอากาศช่วงหลังเคารพธงชาติอีกด้วย

ข้อมูลบางส่วนจาก [1] ThaiPBS [2] กรุงเทพธุรกิจ [3] Nationweekend [4] Nattanon

ข้อเรียกร้องที่ควรเกิดขึ้นหลังจากนี้

สื่อมวลชนต้องทำให้การ “รัฐประหาร” เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจในระบอบประชาธิปไตย การใช้อำนาจนอกเหนือตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดเพื่อยึดการบริหารประเทศเป็นสิ่งที่ไม่เคารพต่อประชาชนในประเทศ และการสร้างสถานการณ์เพื่อก่อให้เกิดรัฐประหารไม่ควรถูกยอมรับได้อีกต่อไป เพราะหากยังมีการ “รัฐประหาร” การเบียดเบียนเวลาปกติของโทรทัศน์ก็จะเกิดขึ้นอีกอยู่ดี

อัปเดตล่าสุดเมื่อ 23 มิถุนายน 2564