ประมวลแถลงการณ์จากองค์กรสื่อมวลชนหลากหลายกลุ่ม หลังนักข่าวภาคสนามได้รับบาดเจ็บจาก “กระสุนยาง” ของตำรวจควบคุมฝูงชน ในวันที่ 20 มีนาคม 2564
- แถลงการณ์ร่วม 6 องค์กรสื่อมวลชน เตือน ปลอกแขนสื่อไม่ได้ป้องกันการใช้ความรุนแรง
- ช่อง 8 ระบุนักข่าวปลอดภัยแล้ว ล่าสุดยังมีอาการช้ำจากกระสุนยางที่ขมับซ้าย
- เครือข่ายสื่อมวลชนอีสาน เรียกร้องให้องค์กรสื่อยืนยันหลักการ “เสรีภาพสื่อ คือเสรีภาพประชาชน” ชี้รัฐบาล – ผบ.ตร. ต้องรับผิดชอบ
- สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศฯ เรียกร้องให้หลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงต่อผู้สื่อข่าวภาคสนาม ย้ำ “กระสุนยาง” ไม่ควรเล็งไปที่บริเวณศีรษะ
ก่อนหน้านี้ ในวันที่ 20 มีนาคม 2564 เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนดำเนินการสลายการชุมนุมต่อเนื่อง ซึ่งมีการยิงกระสุนยางใส่ผู้ชุมนุม ส่งผลให้ผู้สื่อข่าวจากช่อง 8 ได้รับบาดเจ็บที่บริเวณศีรษะ, ผู้สื่อข่าวจากประชาไท ได้รับบาดเจ็บที่บริเวณแผ่นหลัง และผู้สื่อข่าวจากข่าวสด ได้รับบาดเจ็บที่บริเวณต้นขาซ้าย
ขณะที่มีคลิปยืนยันว่าผู้สื่อข่าว THE MATTER ถูกเจ้าหน้าที่ผลักตัวไม่ให้บันทึกภาพหรือรายงานข่าวต่อ โดยเจ้าหน้าที่ได้พาตัวออกมา
ส่วนผู้สื่อข่าว The Reporters ก็ถูกฉีดน้ำเข้าที่ร่างกายขณะรายงานผ่าน Facebook Live ด้วย แต่ได้ย้ายออกมายังพื้นที่อื่นได้ทันในเวลาต่อมา และยังมีอีกหลายกรณีที่นักข่าวได้รับบาดเจ็บแต่ยังไม่ได้รับการยืนยันนั้น
ล่าสุดสมาคมสื่อมวลชนหลายแห่ง เริ่มออกแถลงการณ์ออกมาแล้ว ดังนี้
Table of Contents
แถลงการณ์ร่วม 6 องค์กรสื่อมวลชน เตือน ปลอกแขนสื่อไม่ได้ป้องกันการใช้ความรุนแรง
เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2564 สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ, สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย ออกแถลงการณ์ร่วมองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน เรื่อง การปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่และกลุ่มผู้ชุมนุม จนทุกฝ่ายได้รับบาดเจ็บทั้งเจ้าหน้าที่ ผู้ชุมนุม และสื่อมวลชนที่รายงานข่าว หลังเกิดเหตุปะทะระหว่างการชุมนุมเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2564 โดยแถลงการณ์มีเนื้อหาดังนี้
แถลงการณ์ร่วมองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน
เรื่อง การปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่และกลุ่มผู้ชุมนุม จนทุกฝ่ายได้รับบาดเจ็บทั้งเจ้าหน้าที่ ผู้ชุมนุม และสื่อมวลชนที่รายงานข่าว
จากกรณีที่มีการชุมนุมของกลุ่ม REDEM ที่บริเวณท้องสนามหลวงเมื่อวันเสาร์ที่ 20 มีนาคม 2564 และมีการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจจนนำไปสู่การสลายการชุมนุมโดยการฉีดน้ำ ยิงแก๊สน้ำตาและใช้กระสุนยาง จนเป็นเหตุให้มีนักข่าวและช่างภาพที่เข้าไปปฏิบัติหน้าที่รายงานข่าวการชุมนุมได้รับบาดเจ็บหลายรายตามที่ทราบแล้วนั้น
องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน อันประกอบด้วย สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์
และสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว โดยขอให้ทุกฝ่ายใช้ความอดทนอดกลั้น และไม่เห็นด้วยกับการก่อความรุนแรงในทุกรูปแบบ พร้อมทั้งมีข้อเรียกร้องและข้อเสนอแนะถึงฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
- การชุมนุมของประชาชนกลุ่มต่างๆ หากเป็นการการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากการยั่วยุ อาวุธและการใช้ความรุนแรง ย่อมเป็นสิทธิที่สามารถกระทำได้ตามระบอบประชาธิปไตย
- การปฏิบัติการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจควรดำเนินการเป็นขั้นเป็นตอนโดยก่อนการปฏิบัติการต่างๆ ต้องแจ้งให้ผู้ชุมนุมรวมทั้งสื่อมวลชนได้รับทราบอย่างชัดเจนเพื่อหลีกเลี่ยงความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ
- ผู้สื่อข่าวและช่างภาพที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ชุมนุมต้องปฏิบัติตามแนวปฏิบัติในการรายงานข่าวในสถานการณ์วิกฤตโดยเคร่งครัด เพื่อหลีกเลี่ยงความสูญเสียอันอาจเกิดแก่ร่างกาย ชีวิตและทรัพย์สิน
- องค์กรสื่อมวลชนต้นสังกัดต้องร่วมประเมินสถานการณ์เพื่อให้การสั่งการต่อผู้สื่อข่าวและช่างภาพในพื้นที่ได้รับความปลอดภัย รวมทั้งสนับสนุนและเน้นย้ำให้บุคคลากรในสังกัดได้รับและใช้อุปกรณ์ป้องกันตัวอยู่ตลอดเวลา
องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ขอเน้นย้ำว่า ในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้สื่อข่าวและช่างภาพในพื้นที่ชุมนุมควรใส่ปลอกแขนแสดงสัญลักษณ์ที่ทางองค์กรวิชาชีพสื่อออกให้ทุกครั้ง แต่ต้องเข้าใจว่า ปลอกแขนดังกล่าวไม่ได้เป็นเครื่องมือในการป้องกันกรณีที่มีการใช้ความรุนแรงไม่ว่าจากฝ่ายใด โดยผู้ปฏิบัติงานจะต้องประเมินสถานการณ์และปฏิบัติตามแนวทางการรายงานข่าวในสถานการณ์วิกฤตด้วย
สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ
สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์
สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย
21 มีนาคม 2564
ช่อง 8 ระบุนักข่าวปลอดภัยแล้ว ล่าสุดยังมีอาการช้ำจากกระสุนยางที่ขมับซ้าย
ฝ่ายข่าวช่อง 8 ออกแถลงการณ์ ระบุ “แพรว พนิตนาฏ พรหมบังเกิด” ผู้สื่อข่าวของช่อง อาการปลอดภัย และออกจากไอซียูแล้วในวันนี้ (21 มีนาคม 2564)
โดยในแถลงการณ์ยืนยันว่า ช่อง 8 ทำหน้าที่สื่อมวลชนอย่างดีที่สุด ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง และไม่ปรารถนาที่จะเห็นการใช้ความรุนแรงจากกรณีใดหรือฝ่ายใดก็ตาม
ก่อนหน้านี้ “แพรว พนิตนาฏ” ผู้สื่อข่าวช่อง 8 ได้รับบาดเจ็บจากกระสุนยางที่บริเวณขมับซ้าย แต่ล่าสุดเจ้าตัวสามารถพูดคุยตอบสนองได้แล้ว แต่ยังมีอาการเจ็บบริเวณที่ถูกกระสุนยางยิง และยังมีอาการช้ำที่สมอง แต่ยังรักษาได้ตามอาการ
ส่วนเนื้อหาแถลงการณ์ทั้งหมด มีดังนี้
แถลงการณ์เหตุการณ์ชุมนุม
20 มีนาคม 2564
จากเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองของกลุ่ม REDEM เมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ.2564 เกิดการปะทะกันหลายจุดระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุม และเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งสองฝ่าย รวมถึงมีสื่อมวลชนได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ด้วย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ แพรว พนิตนาฏ พรหมบังเกิด ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ช่อง 8 ที่ลงพื้นที่รายงานเหตุการณ์ ท่ามกลางสถานการณ์ชุลมุน ที่ คฝ.เข้ากระชับพื้นที่ ผู้สื่อข่าวช่อง 8 ได้ถูกกระสุนยางเข้าบริเวณเหนือขมับด้านขวา แล้วเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ประชาชื่นตามที่เป็นข่าวไปแล้วนั้น
ความคืบหน้าอาการบาดเจ็บของผู้สื่อข่าวช่อง8 หลังจากแพทย์ได้สแกนสมอง และสั่งให้เฝ้าดูอาการในห้องไอซียู ขณะนี้ได้ออกจากห้องไอซียู มาพักในห้องผู้ป่วยปกติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สามารถพูดคุย ตอบสนองได้ตามปกติ แต่ยังคงมีอาการเจ็บบริเวณที่ถูกกระสุนยาง เนื่องจากได้รับการกระทบกระเทือน และมีรอยช้ำบวม บริเวณสมองเล็กน้อย ซึ่งสามารถรักษาได้ตามอาการ
ฝ่ายข่าวช่อง8 และคุณแพรว พนิตนาฏ ขอขอบคุณทุกความห่วงใยที่ส่งเข้ามาในทุกช่องทาง และยังคงยืนยันการทำหน้าที่สื่อมวลชนอย่างดีที่สุด ท่ามกลางสถานการณ์ขัดแย้งทางการเมือง เราตระหนักถึงการทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาในทุกมิติข่าว และไม่ปรารถนาที่จะเห็นการใช้ความรุนแรงไม่ว่าจะกรณีใดหรือฝ่ายใดก็ตาม
จึงแจ้งมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน
21 มีนาคม 2564
เครือข่ายสื่อมวลชนอีสาน เรียกร้องให้องค์กรสื่อยืนยันหลักการ “เสรีภาพสื่อ คือเสรีภาพประชาชน” ชี้รัฐบาล – ผบ.ตร. ต้องรับผิดชอบ
21 มีนาคม 2564 เครือข่ายสื่อมวลชนอีสาน ออกแถลงการณ์เรื่อง งดใช้ความรุนแรงกับสื่อมวลชนและผู้ชุมนุมทางการเมือง ซึ่งมีเนื้อหาดังนี้
แถลงการณ์เครือข่ายสื่อมวลชนอีสาน
เรื่อง งดใช้ความรุนแรงกับสื่อมวลชนและผู้ชุมนุมทางการเมือง
จากการชุมนุมของกลุ่ม REDEM ที่สนามราษฎร์และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อค่ำวานนี้ (20 มีนาคม 2564) โดยมีข้อเรียกร้องให้ปล่อยตัวแกนนำราษฎรและปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ แต่กลับเกิดเหตุการณ์บานปลายกระทั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าสลายการชุมนุมด้วยการใช้อาวุธ เช่น กระบอง และกระสุนยาง ส่งผลให้ประชาชน ผู้สื่อข่าว ช่างภาพ และบุคลากรของสำนักข่าวทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศได้รับบาดเจ็บขณะทำหน้าที่รายงานข่าวต่อสาธารณะ ทั้งที่มีสัญลักษณ์ชัดเจนว่าเป็นสื่อมวลชนภาคสนามที่กำลังปฏิบัติหน้าที่
ทั้งนี้การสลายการชุมนุมของตำรวจและเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้ปฏิบัติตามหลักสากลที่ลงนามไว้กับองค์การสหประชาชาติ (UN) โดยเฉพาะการประกาศเตือนก่อนการเข้าสลายการชุมนุม ซึ่งจะต้องแจ้งให้ผู้ชุมนุมรับทราบและเข้าใจอย่างทั่วถึงก่อน จึงจะใช้ขั้นตอนจากเบาไปหาหนักได้
เครือข่ายสื่อมวลชนอีสานมีความกังวลอย่างยิ่งต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องสวัสดิภาพการทำงานของสื่อมวลชนภาคสนามในเหตุการณ์และพื้นที่ใกล้เคียงการชุมนุม เครือข่ายฯ จึงมีข้อเรียกร้องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
- ขอให้รัฐบาลซึ่งเป็นผู้รับผิดรับชอบสูงสุดต่อผลกระทบที่เกิดจากมาตรการรับมือการชุมนุม พึงระลึกไว้เสมอว่า การใช้ความรุนแรงนอกจากไม่อาจหยุดความต้องการของประชาชนได้แล้ว ยังทำให้ความขัดแย้งนั้นร้าวลึกยิ่งกว่าเดิม ดอกผลแห่งความปรองดองมิอาจผลิบานท่ามกลางเปลวไฟ ซึ่งประเทศไทยเคยมีบทเรียนมานับครั้งไม่ถ้วนแล้ว และขอเรียกร้องว่าจากการใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมดังกล่าวต่อประชาชนและสื่อมวลชน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้นำรัฐบาล และพลตำรวจเอก สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ต้องรับผิดชอบต่อการออกคำสั่งในมาตรการดังกล่าว รวมถึงการกระทำของผู้ใต้บังคับบัญชาที่ใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุม ผู้ที่ไม่ได้เกี่ยวข้อง รวมถึงสื่อมวลชนที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ด้วย
- ขอให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานพึงระลึกไว้เสมอว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ก่อนใช้ความรุนแรงใดๆ กับประชาชน ตลอดจนสื่อมวลชน ควรทบทวนเสมอว่าอำนาจสั่งการนั้นชอบแล้วหรือไม่
- สมาคมวิชาชีพสื่อ ผู้ประกอบวิชาชีพ ตลอดจนนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน ควรร่วมหาทางออก เพื่อกำหนดแนวทางการทำงานร่วมกัน โดยยืนยันหลักการที่ว่า “เสรีภาพสื่อ คือเสรีภาพประชาชน” ทั้งนี้การปล่อยให้สื่อมวลชนที่ปฏิบัติงานภาคสนามรับผิดชอบชีวิตกันเอง แม้มีสัญลักษณ์ระบุชัดเจนว่าเป็น “สื่อมวลชน” ก็ไม่อาจพ้นจากความเสี่ยง ท่าทีเช่นนี้เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้
ด้วยจิตคาราวะ
เครือข่ายสื่อมวลชนอีสาน
สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศฯ เรียกร้องให้หลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงต่อผู้สื่อข่าวภาคสนาม ย้ำ “กระสุนยาง” ไม่ควรเล็งไปที่บริเวณศีรษะ
ล่าสุดวันนี้ (22 มีนาคม 2564) สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย ออกแถลงการณ์ กรณีผู้สื่อข่าวได้รับบาดเจ็บจากใช้กระสุนยางของเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีเนื้อหาเต็มๆ ดังนี้
แถลงการณ์ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย
กรณี ผู้สื่อข่าวได้รับบาดเจ็บจากใช้กระสุนยางของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
คณะกรรมการวิชาชีพแห่งสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย มีความกังวลเป็นอย่างยิ่งต่อกรณีผู้สื่อข่าวจำนวนหนึ่งได้รับบาดเจ็บจากการใช้กระสุนยางขณะกำลังปฏิบัติหน้าที่รายงานข่าวการชุมนุมในบริเวณสนามหลวงเมื่อคืนวันเสาร์ทีผ่านมา ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูง แก๊สน้ำตา และกระสุนยางในการสลายการชุมนุม
สมาคมฯ มีมติสนับสนุนแถลงการณ์ร่วมของ 6 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนในประเทศไทย นอกจากนี้ สมาคมฯ ขอเรียกร้องให้ทางการไทยตระหนักถึงสิทธิการปฏิบัติหน้าที่ของผู้สื่อข่าวในพื้นที่การชุมนุม และผู้สื่อข่าวไม่ควรตกเป็นเป้าในปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่
แถลงการณ์ 6 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ประกอบด้วยสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ, สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย มีเนื้อหาดังต่อไปนี้:
- การชุมนุมของประชาชนกลุ่มต่างๆ หากเป็นการการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากการยั่วยุ อาวุธและการใช้ความรุนแรง ย่อมเป็นสิทธิที่สามารถกระทำได้ตามระบอบประชาธิปไตย
- การปฏิบัติการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจควรดำเนินการเป็นขั้นเป็นตอนโดยก่อนการปฏิบัติการต่างๆ ต้องแจ้งให้ผู้ชุมนุมรวมทั้งสื่อมวลชนได้รับทราบอย่างชัดเจนเพื่อหลีกเลี่ยงความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ
- ผู้สื่อข่าวและช่างภาพที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ชุมนุมต้องปฏิบัติตามแนวปฏิบัติในการรายงานข่าวในสถานการณ์วิกฤตโดยเคร่งครัด เพื่อหลีกเลี่ยงความสูญเสียอันอาจเกิดแก่ร่างกาย ชีวิตและทรัพย์สิน
- องค์กรสื่อมวลชนต้นสังกัดต้องร่วมประเมินสถานการณ์เพื่อให้การสั่งการต่อผู้สื่อข่าวและช่างภาพในพื้นที่ได้รับความปลอดภัย รวมทั้งสนับสนุนและเน้นย้ำให้บุคคลากรในสังกัดได้รับและใช้อุปกรณ์ป้องกันตัวอยู่ตลอดเวลา
สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทยขอเน้นย้ำถึงแนวทางปฏิบัติของสหประชาชาติ ว่าด้วยการใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำ (non-lethal force) ที่ระบุว่า:
“การใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำเพื่อสลายการชุมนุม เป็นยุทธวิธีที่ไม่สามารถเจาะจงบุคคลได้ และควรใช้ก็ต่อเมื่อไม่มีทางเลือกอื่นใด การสลายการชุมนุมด้วยวิธีดังกล่าวควรใช้ก็ต่อเมื่อเกิดความรุนแรงระดับร้ายแรง หรือเกิดความรุนแรงในวงกว้างจนกลายเป็นภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน ทั้งนี้ จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อเจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมายได้ใช้มาตรการอื่นๆในการดูแลการชุมนุมนั้นๆ และปกป้องผู้เข้าร่วมชุมนุมจากอันตรายอย่างสมเหตุสมผล”
แนวทางปฏิบัติดังกล่าวยังระบุด้วยว่า กระสุนยางควรเล็งไปที่บริเวณต่ำของร่างกายผู้ที่ถูกชี้ว่าเป็นภัยเสี่ยงต่อความปลอดภัยเท่านั้น และไม่ควรเล็งไปที่บริเวณศีรษะไม่ว่าในกรณีใดๆ แต่ปรากฏว่าในคืนวันเสาร์ที่ผ่านมา มีผู้สื่อข่าวคนหนึ่งต้องเข้ารับการรักษาและสแกนสมองที่โรงพยาบาลหลังถูกกระสุนยางยิงเข้าที่ศีรษะ
สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทยขอเรียกร้องให้ทางการไทยเร่งทบทวนมาตรการควบคุมฝูงชน และใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษในการหลีกเลี่ยงใช้ความรุนแรงต่อผู้สื่อข่าวที่ปฏิบัติหน้าที่ในภาคสนาม
เผยแพร่เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2564
สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย