สัมภาษณ์ ผอ. ไทยพีบีเอส

สัมภาษณ์พิเศษ “รศ.วิลาสินี พิพิธกุล” แนวคิดรายการและอนาคตของ ไทยพีบีเอส ในปี 62

สถานการณ์ปัจจุบันที่คนหันมาบริโภคสื่อออนไลน์มากขึ้น ทำให้สื่อเก่าทั้งหนังสือพิมพ์ นิตยสาร รวมไปถึงโทรทัศน์ต่างต้องหาวิธีการปรับตัว ปรับเนื้อหา เพื่อที่จะอยู่รอดให้ได้ในปัจจุบัน ถึงแม้ว่าไทยพีบีเอสจะไม่ได้กังวลเรตติ้งมากเท่าไหร่หนัก เพราะเป็นสื่อสาธารณะที่มุ่งเน้นการสร้างสรรค์ประโยชน์เพื่อสังคม แต่การที่จะเข้าไปอยู่ในใจของคนดูก็ถือเป็นเรื่องหลักที่ทางสถานีอยากทำให้ได้

รศ.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการไทยพีบีเอส ได้เปิดโอกาสให้ทางทีม #ยามเฝ้าจอ สัมภาษณ์ถึงแนวคิดของรายการที่ทางสถานีเพิ่มเข้ามาในไตรมาสสุดท้าย และทิศทางในอนาคต

สัมภาษณ์ ผอ. ไทยพีบีเอส

อยากให้ท่าน ผอ. ได้เล่าถึงเหตุผลที่ว่าทำไมรายการในไตรมาส 4 ถึงมีหมวดหมู่ปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปการศึกษาเข้ามาร่วมด้วย

         เราได้ประกาศให้ปี 2561 เป็นปีแห่งการปฏิรูปทั้งปี ไทยพีบีเอสเราได้กำหนดวาระหลักในการทำเนื้อหาที่จะทำให้คนไทยตื่นตัว แล้วก็ลุกขึ้นมาให้ความสนใจให้เห็นความสำคัญว่าทุกคนก็มีส่วน มีบทบาทในการปฏิรูปประเทศนี้ได้ อันนี้คือเป้าหมายเราตั้งแต่ต้นปี เพราะฉะนั้นเราก็มีการวางแผนมาอย่างต่อเนื่อง ว่าเราจะเปิดประเด็นปฏิรูปอะไร ในตอนไหนบ้าง ซึ่งปฏิรูปการเมือง เราได้วางไว้เป็นไตรมาสสุดท้ายอยู่แล้ว

        ในส่วนปฏิรูปการศึกษาได้เริ่มมาตั้งแต่กลางปี ซึ่งทั้งสองการปฏิรูปจะมีรายการสำคัญในช่วงท้ายก็เน้นนำเสนอผ่านรูปแบบที่ดูแล้วสนุกสนาน มีความสร้างสรรค์ ไม่ใช่เป็นสาระหนัก ๆ อย่างเดียว เช่นทำเป็นรายการเรียลลิตี้ เป็นเกมโชว์ เป็นละคร สาเหตุที่ทำรายการออกมาในลักษณะนี้เพราะเน้นกลุ่มเป้าหมายไปยังผู้คนยุคใหม่ โดยเฉพาะถ้าเป็นการเมือง เราก็อยากจะจุดประกายเรื่องนี้กับคนที่จะได้ใช้สิทธิในการเลือกตั้งครั้งแรก ก็เลยเน้นรายการที่ดูแล้วสนุก แต่ในขณะเดียวกันเวลาดูเขาก็จะได้สาระไปด้วย

รายการในหมวดการเมืองมาลงช่วงเลือกตั้งพอดีด้วย ถือว่าเป็นความตั้งใจของสถานีใช่ไหม

         เราวางแผนประมาณนั้นอยู่แล้ว จริง ๆ แล้วต้องบอกว่าโดยจุดยืนของไทยพีบีเอส เราส่งเสริมกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยที่เน้นการมีส่วนร่วมของพลเมืองเป็นหลัก เพราะฉะนั้นเรามองว่า เรื่องของการเลือกตั้งเป็นเรื่องสำคัญ เราก็อยากจะทำเต็มที่ในตรงนี้ เราไม่ได้อยากให้คนสนใจแค่ว่าพรรคไหนจะส่งใคร หรือแม้แต่การต่อสู้กันทางการเมืองระหว่างพรรคต่าง ๆ

        เราคิดว่าคนไทยจะต้องเข้าใจและมองความสำคัญของการเลือกตั้งครั้งนี้ไปอยู่บนฐานของ “หน้าที่พลเมือง” และที่สำคัญก็คือ เห็นว่าตัวเรานั่นแหละ ที่จะทำให้การเมืองครั้งนี้เป็นการเมืองที่มีรากฐานเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง เพราะฉะนั้นเราจึงเลือกทำรายการ Change Thailand ในตอนปลายปีนี้

Change Thailand จะแตกต่างจากรายการเรียลลิตี้อื่น ๆ อย่างไรบ้าง

         หนึ่งเลยก็คือ ผู้สมัครที่เข้ามาซึ่งเราเน้นรับสมัครคนรุ่นใหม่ เยาวชน ที่มีความตื่นตัวอยู่แล้ว อาจจะเป็นคนที่ Active ในประเด็นต่าง ๆ ของสังคม แต่เราก็คัดเข้ามา จริง ๆ ต้องบอกว่าไม่ต่างจากรายการเรียลลิตี้อื่น ๆ ตรงที่เราก็มีเอาผู้เข้าร่วมแข่งขันมาเรียนรู้ มาอบรม ไปเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ

          แต่ความต่างของรายการอยู่ที่สาระที่เราให้ โดยผู้เชี่ยวชาญมากจากหลากหลายสาขาวิชา ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่มีบทบาทในเชิงของกระบวนการประชาธิปไตย นักวิชาการที่ให้ความสำคัญกับเรื่องการเมือง ไปจนถึงผู้ที่เคยมีบทบาทในด้านการดูแลเรื่องทุจริต คอร์รัปชัน เราจะพาท่านเหล่านี้มาเป็นที่ปรึกษาให้กับน้อง ๆ ที่จะได้มาเรียนรู้ เพราะฉะนั้นผู้ชมก็จะได้ ซึมซับในเรื่องของสาระ ความรู้ จิตสำนึก ที่ปลูกฝั่งเข้ามาผ่านกระบวนการเรียนรู้กับน้อง ๆ ที่เข้าร่วมแข่งขันไปด้วย แล้วน้อง ๆ ก็จะได้ร่วมนำเสนอไอเดียของเขา หรือข้อเสนอว่า เขาอยากจะปฏิรูปการเมืองของสังคมเขาอย่างไร

         ต้องบอกว่าเวลาเราพูดคำว่า “ปฏิรูปการเมือง” หรือ “ฉันจะเป็นนายก” มันหมายรวมไปถึง นายกระดับชุมชน นายกท้องถิ่น ไปจนถึงว่าที่นายกของประเทศเลย เราก็เลยคิดว่าความต่างมันอยู่ตรงนี้ ต่างอยู่ตรงสาระที่น้อง ๆ ได้เรียนรู้ แล้วผู้ชมก็จะได้เรียนรู้ผ่านน้อง ๆ ไปด้วย

รายการ I want to be a teacher เป็นรายการแนวไหน

           ฉันจะเป็นครู I want to be a teacher เป็นเรียลลิตี้เหมือนกัน เอานักเรียนสายครุศาสตร์ศึกษาศาสตร์ ที่กำลังจะไปฝึกสอน ใช้ชีวิตจริงกับโรงเรียนต่าง ๆ เพราะฉะนั้นเรียลลิตี้นี้คนดูจะได้เข้าใจ ว่ากว่าจะเป็นครูที่มีคุณภาพจริง ๆ มันยากเย็น แต่ครูทุกคนคือน้อง ๆ ที่เป็นนักศึกษาที่กำลังจะไปเป็นครู ทุกคนมีความตั้งใจจริงขนาดไหน มันคือสถานการณ์จริงทั้งหมด ทั้งเรื่องของการแก้ปัญหา เรื่องของการออกแบบวางแผนการเรียน การสอน การทำความเข้าใจ การเข้าไปในจิตใจของเด็ก ๆ คือจะเห็นเลยว่า ครูแต่ละคนไม่ใช่ครูที่ยืนสอนแต่หน้าห้อง แต่เขาเข้าถึงจิตใจของเด็ก ๆ ด้วย สิ่งเหล่านี้มันจะซึมซับให้คนในสังคมเข้าใจซึ่งกันและกัน ว่าความเป็นครูแล้วจริง ๆ เป็นยาก แต่ถ้าเราร่วมกัน เกื้อกูลกันเราก็จะได้ครูที่ดี

ละครที่จะฉายในสิ้นปีนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับอะไร

         ละครเรื่อง “ฝันให้สุด” นี่ก็เป็นปฏิรูปการศึกษาเหมือนกันคือเจาะลงไปเลย เรื่องของการศึกษาอาชีวะ ซึ่งถ้าเราบอกว่าเราอยากพัฒนาประเทศให้ก้าวไกล อาชีวะนี้คือหัวใจสำคัญเลย เพราะเขาเรียนเรื่องช่าง การเรียนที่เป็นการเรียนเพื่อไปเป็นทักษะทางด้านอาชีพ เพราะฉะนั้นเราต้องการผู้เรียนสายอาชีวะที่มีทั้งทักษะ มีทั้งคุณภาพ และที่สำคัญก็คือมีวิสัยทัศน์ที่จะนำพาประเทศไปในอนาคต

         เพราะฉะนั้นละครเรื่องนี้ เราอยากจะเปลี่ยนค่านิยมสังคม ว่าคนเรียนอาชีวะ เป็นคนมีคุณภาพเหมือนกัน แล้วถ้าสังคมมีทัศนคติที่บวกกับสายอาชีวะ สังคมก็จะยอมรับ จะเปิดโอกาส เปิดพื้นที่ แล้วเห็นศักยภาพของเขา แล้วเราคิดว่าทางที่เราจะไป เพื่อไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ตามแนวนโยบายที่อยากจะเป็นมันก็จะเกิดขึ้นได้อย่างมีคุณภาพ

ทำไมไทยพีบีเอสถึงเลือกจับประเด็นประวัติศาสตร์และอาหารไทยในปีนี้

         ไทยพีบีเอสเราให้ความสำคัญกับเรื่องของความรู้ที่มีหลากหลายมุม เพื่อที่สังคมไทยได้เข้าใจ จุดยืนของเราก็คืออยากให้ทุกคนอยู่ร่วมกันด้วยความเข้าใจแล้วก็ยอมรับในความหลากหลาย แต่ที่สำคัญก็คือเข้าใจหรือเข้าถึงรากเหง้าของความเป็นไทย เพราะฉะนั้นเราเลยเลือก “เรื่องเล่ารัตนโกสินทร์” ซึ่งก็คือยุคสมัยที่เราอยู่เนี้ยแหละกับเรื่องของ “หอมกลิ่นสยาม”

         เพราะเราถือว่าสองเรื่องนี้มันจะช่วยนำพาคนไทยให้เข้าใจว่ากว่าที่เราจะมาอยู่ทุกวันนี้ ประเทศไทยเราผ่านการเรียนรู้ การต่อสู้ การปรับเปลี่ยนอย่างไรมาบ้าง แล้วก็พระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นผู้นำสูงสุดของเราท่านได้ทรงใช้พระปรีชาสามารถอะไรมาบ้าง อันนี้คือหัวใจของการเรียนรู้และเคารพในคุณค่าของความเป็นไทยของเรา ส่วนหอมกลิ่นสยามถึงแม้จะมองว่าเป็นเรื่องของอาหารแบบไทย ๆ แต่ในการถ่ายทอดความรู้ การสืบทอดคุณค่าของอาหารไทยจากรุ่นสู่รุ่นมันได้ปลูกฝังจิตสำนึกของความเป็นไทยเอาไว้อย่างไร

อยากให้คนจดจำเราได้ในฐานะสถาบันสื่อสาธารณะที่ทรงเสริมสารคดีฝีมือคนไทย 

รศ.วิลาสินี พิพิธกุล

ปีหน้ามีรายการใดที่ท่าน ผอ. พอจะเผยให้เราได้ทราบบ้างไหมครับ

         จริง ๆ ไทยพีบีเอสเราได้ตั้งเป้าไว้ว่า อยากให้คนจดจำเราได้ในฐานะสถาบันสื่อสาธารณะที่ทรงเสริมสารคดีฝีมือคนไทย จากนี้ไปเราเชื่อว่าสารคดีที่เราผลิตออกมาอย่างต่อเนื่อง เราต้องบอกว่าทุกเรื่องของไทยพีบีเอสกว่าจะได้ออกมาเรื่องหนึ่งเราพัฒนาเนื้อหากันเยอะมาก เราให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกันผู้ทรงคุณวุฒิ เครือข่ายองค์กรต่าง ๆ มาโดยตลอด เพราะฉะนั้นเรามั่นใจว่าจากนี้ไปสังคมจะจดจำว่าไทยพีบีเอสเป็นสื่อที่ส่งเสริมสารคดีคุณภาพที่ผลิตโดยฝีมือคนไทย อันนั้นคือหัวใจ และเราเชื่อว่าคนไทยมีฝีมือในการทำสารคดี การบอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่เราอยากเปิดพื้นที่ให้ได้ทำเรื่องเล่า สารคดีต่าง ๆ ผ่านมุมมองของเขาด้วย อันนั้นก็คิดว่าเป็นความตั้งใจและจะมีต่อเนื่องไปตลอด

         อีกเรื่องหนึ่งก็คือละครอย่างที่บอกไปแล้ว ก็อยากจะตั้งใจส่งเสริมให้มีละครคุณภาพ อย่างต่อเนื่องเหมือนกัน สารคดีที่จะมีมาต้นปีก็อย่างเช่นเรื่อง สะอาดบุรี นี่ก็เป็นเรียลลิตี้อีกเหมือนกัน เป็นการเอาชุมชนต่าง ๆ มาเรียนรู้ร่วมกันแล้วก็มีภารกิจในการแข่งขันว่าเขาจะทำให้ชุมชนของเขาปลอดขยะได้อย่างไร มันก็คือการเรียนรู้ผ่านของจริง

ทำไมถึงเลือกเจาะรายการประเภทเรียลลิตี้

         เราคิดว่า เวลาเราบอกว่าเราสื่อสารความรู้ให้กับสังคม มันก็มีศิลปะในการสื่อสาร ในยุคปัจจุบันเราเรียกว่าคนเปิดรับการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง มากกว่าที่จะมาบอกว่าให้ต้องจำ คุณต้องรู้ คุณต้องดู เขาก็ไม่ดูกันอยู่แล้วละ แต่ถ้าบอกว่านี่เป็นประสบการณ์จริง เรากำลังนั่งดูเพื่อนเราที่เขาไปร่วมเรียนรู้แบบนั้นมันจะทำให้การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ง่าย

ตัวรายการข่าวไทยพีบีเอส ในช่วงไตรมาส 4 หรือช่วงต้นปีหน้าจะมีการปรับเปลี่ยนอย่างไรบ้าง

         เรายังให้ความสำคัญกับข่าวพื้นที่ ถ้ามองเป็นผังรายการที่ปรากฏบนหน้าจอ 50% ของผังหน้าจอทีวีเป็นข่าว เพราะฉะนั้นเรายังคงลงน้ำหนักเหมือนเดิม แต่ถ้าดูดี ๆ จะค่อย ๆ เห็นความเปลี่ยนแปลงแล้วนะตอนนี้

         นั้นก็คือข่าวเช้าของเราจะเป็นข่าวที่มีการวิเคราะห์เหตุการณ์หรือประเด็นที่ทิ้งค้างไว้จากตอนเย็นของเมื่อวานมากขึ้น จะมาบอกว่าเช้าวันนี้เรื่องมันไปถึงไหน แล้วสังคมไทยควรจะติดตามเรื่องนี้ต่ออย่างไร เพราะฉะนั้นข่าวเช้าจะเป็นในลักษณะนี้ จะพาคุณผู้ชมตื่นขึ้นมาพร้อมการบอกว่านี้คือประเด็นที่สังคมต้องจับตาดู

         ส่วนข่าวเที่ยงจะเป็นข่าวที่เน้นรวบรวมเอาเหตุการณ์รอบประเทศมานำเสนอมากขึ้น เราจะให้พื้นที่กับสื่อท้องถิ่น สื่อภูมิภาค หรือประเด็นในพื้นที่มากขึ้น ในส่วนของข่าวค่ำจะเป็นประเด็นหนัก ๆ จะวิเคราะห์ประเด็นที่เราเลือกแล้วว่านี่คือวาระสำคัญในแต่ละวันที่คนไทยควรจะได้รับรู้ร่วมกัน นี่คือหลัก ๆ ที่จะเปลี่ยน

          นอกจากนั้นเรากำลังเตรียมการวิเคราะห์การเลือกตั้งจะเริ่มเดือนพฤศจิกายนเราจะเปิดวอลรูมเลือกตั้งของเราเองเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเข้าสู่วาระการเลือกตั้ง เราจะเริ่มมีข่าวภาคภาษาอังกฤษสอดแทรกเข้ามาในข่าวค่ำก็คือ ThaiPBS World และเราตั้งเป้าไว้ว่าภายในปีหน้าเราน่าจะมีข่าวภาคภาษาเพื่อนบ้านด้วย นอกจากนั้นประเด็นที่จะยังคงเข้มข้นเหมือนเดิมก็คือข่าวที่มาจากนักข่าวพลเมือง เราก็ยังถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของไทยพีบีเอส

ปัจจุบันพบว่า ThaiPBS World ออกอากาศเฉพาะบน Facebook Live ในอนาคตจะมีการนำรายการดังกล่าวมาออกอากาศหน้าจอโทรทัศน์หรือไม่ครับ

          เร็ว ๆ นี้เราจะมีการตัดเข้ามาในข่าวค่ำด้วย แต่ว่าหลัก ๆ เราจะเน้น ThaiPBS World on Cloud ผ่านช่องทางออนไลน์อยู่

ในปีหน้าทางไทยพีบีเอสจะนำเทคโนโลยีอะไรมาช่วยเสริมในการออกอากาศอีกไหมครับ

          เราจะมี OTT เปิดตัวเดือนมกราคม แบบเต็มรูปแบบ แต่จะเป็น OTT ที่เน้นการจัดกลุ่มเนื้อหาที่เราคิดว่าเหมาะสมสอดคล้องกับผู้ชมที่มีความหลากหลาย ถ้าคุณเป็นเด็ก เยาวชน คุณเข้ามามันจะมีกลุ่มเนื้อหาสำหรับเด็กและเยาวชนได้เลย แล้วเป้าเราก็คือกลุ่มเนื้อหาเด็กและเยาวชนที่พ่อแม่สามารถทิ้งให้ลูกดูได้ คือไม่เป็นพิษเป็นภัย เราจะมีกลุ่มเนื้อหาที่เหมาะสำหรับคนที่มีความสนใจในสิ่งต่าง ๆ เราจะพยายามทำเนื้อหาให้สอดรับกับความต้องการของคนที่หลากหลายทั้งหมด เรียกได้ว่าเป็น PersonalitiesTV อย่างแท้จริง จะเริ่มมกราคมนี้

สุดท้ายครับ อยากให้ฝากถึงรายการบันเทิงที่ท่านผู้ชมจะได้รับ

          อยากเชิญชวนผู้ชมทุกท่านติดตามดูทั้งทางทีวีช่องหมายเลข 3 แล้วก็ทางออนไลน์ เพราะว่ารายการทุกรายการของเราสามารถชมสดทางออนไลน์ได้ รวมถึงการชมย้อนหลังในทุกช่องทางได้หมดเลย รายการทั้งหมดของไทยพีบีเอส เราตั้งใจผลิตขึ้นมา มีเป้าหมายอยากชวนประชาชนคนไทยมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงประเทศอย่างสร้างสรรค์ร่วมกัน เพราะฉะนั้นเราคิดว่าการรับชมสื่อของไทยพีบีเอสน่าจะมีส่วนสร้าง หรือส่วนร่วมในการขับเคลื่อนประเทศ มากกว่าแค่การได้รับความบันเทิงจากสื่อ ก็อยากเชิญทุกคนมาร่วมกัน