classic analog televisions

คำต่อคำ : ‘ยามเฝ้าจอ’ ให้สัมภาษณ์ในรายการ “สื่อสันติภาพ จับจ้องมองสื่อ” ทางวิทยุจุฬาฯ

ผู้ร่วมก่อตั้งเพจ ยามเฝ้าจอ ให้สัมภาษณ์ในรายการ “สื่อสันติภาพ จับจ้องมองสื่อ” ออกอากาศทาง CU Radio สถานีวิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz เมื่อ 19 พฤศจิกายน 2560 โดยเล่าถึงที่มาที่ไปของการทำ “ยามเฝ้าจอ” รวมถึงมองสถานการณ์สื่อทีวีและสื่ออื่น ๆ ในอนาคตจะเป็นไปไหนทิศทางไหน

classic analog televisions

ที่มาที่ไปในการสร้างเพจ “ยามเฝ้าจอ”

ตอนแรกเริ่มมาจากสื่อสังคมออนไลน์ ทวิตเตอร์ก่อน มีเพื่อนอยู่ประมาณ 5 – 6 คน สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับทีวีเหมือนกัน เวลาเห็นอะไรสนใจบนหน้าจอทีวีก็จะทวีตออกมา แยก ๆ กันออกไป ไม่ได้รวมตัวเป็นกลุ่มก้อน หลังจากนั้นเราก็มาคุยกันว่าเราควรมารวมตัวเป็นกลุ่มอะไรซักอย่างไหม เพื่อที่คนที่สนใจทีวีเหมือนกันจะได้เข้ามาที่กลุ่มนี้ และได้มาแชร์ข้อมูลกัน จึงเกิดเป็นแฮซแท็กขึ้นมา #ยามเฝ้าจอ อยู่บน Twitter

อยากรู้เรื่องราวบนทีวี หรืออยากแชร์เรื่องราวก็เชิญชวนกันมาติดแท็กนี้ เพื่อคนจะได้รับรู้ตรงกันว่า “เป็นแท็กเกี่ยวกับทีวี” ต่อมาเมื่อมีข้อมูลมากขึ้นในทวิตเตอร์ เราก็เลยมีความคิดขึ้นมาจากแอดมินเพจ 5 คน ที่ร่วมกันทำ ก็คิดว่าจะทำเป็นแฟนเพจเฟซบุ๊กดีไหม แล้วก็หยิบยกเรื่องราวที่มันน่าสนใจมากๆ ขึ้นมาทำกราฟิกรายละเอียดเนื้อหาต่าง ๆ ให้มันลงลึกกว่าทวิตเตอร์ จึงเกิดมาเป็นแฟนเพจยามเฝ้าจอในเฟซบุ๊ก ตอนนี้ก็มีคนกดไลก์กว่า 3,000 คนแล้ว

ในทวิตเตอร์ก็มีการสร้าง Official Account ขึ้นมา ก็คือนำเนื้อหาจากเฟซบุ๊กที่มีรายละเอียดลึก ๆ มาลงในทวิตเตอร์อีกรอบด้วย และตอนนี้มีคนติดตามประมาณ 500 กว่าคน

ทำไมถึงเลือกเปิดประเด็นที่สื่อทีวี?

เพราะว่าจะเป็นคนดูทีวีมาตั้งแต่เด็ก ๆ ชอบดูรายการข่าว ชอบดูรายการเกมโชว์ต่าง ๆ แล้วเวลามันมีอะไรเปลี่ยนแปลงเราก็อยากติดตามว่ามันมีอะไรใหม่ ๆ บ้างไหม ทำไมมันถึงเปลี่ยนแปลงไป อีกอย่างหนึ่งก็คือสื่ออื่น ๆ ไม่ค่อยจะนำเสนอด้วยว่าในความเปลี่ยนแปลงบนหน้าจอมันมีอะไรบ้าง ด้วยข้อจำกัดของค่าย ของสังกัด ทำให้เขาไม่สามารถนำเสนออะไรพวกนี้ได้ จึงอยากจะทะลายข้อจำกัดเหล่านี้ลงไป

เพราะว่าอย่างในต่างประเทศการรายงานการเปลี่ยนแปลงของสื่อค่ายอื่น ๆ มันเป็นเรื่องปกติมาก ๆ เลย ทั้งในอังกฤษหรือสหรัฐ เวลามีบางช่องเปลี่ยนผังรายการ คนจากช่องนี้มาช่องนี้ เขาจะนำเสนออย่างเต็มที่เลย แต่ในบ้านเรายังไม่ค่อยมีในลักษณะนี้ซักเท่าไหร่ อาจจะพยายามเลี่ยง ขนาดที่ว่าจะกล่าวถึงละครของช่องคู่แข่งยังไม่ค่อยกล้าพูดเต็มปากเต็มคำต้องใช้คำเลี่ยง ๆ ไป

อาจจะเพราะว่ามีความเกร็งหรือความกลัวอะไรบางอย่าง ไม่แน่ใจเหมือนกันนะครับว่า อาจจะกลัวว่าการนำเสนอความก้าวหน้าของช่องคู่แข่ง เราจะเสียผลประโยชน์หรือเปล่า หรือจะไปกระทบอะไรบางอย่างให้ช่องเขาเสียหายหรือเปล่า

แล้วเราก็อยากนำเสนอประเด็นดังกล่าวที่ว่ามาจึงเกิดมาเป็นเพจยามเฝ้าจอขึ้นมาครับ

“จอใหม่ ๆ เราก็เฝ้า” หมายความว่าอย่างไร?

ตอนแรกที่พูดถึงจอใหม่ ๆ ก็คือเป็นทีวีดิจิทัลที่เพิ่มมาจากช่องเดิม พอผ่านไปก็มีจอใหม่ ๆ เข้ามามากขึ้น บางช่องที่ออกอากาศปัจจุบันก็มีเฉพาะออนไลน์เท่านั้น ไม่มีการออกอากาศผ่านทางทีวีภาคพื้นดินแล้ว เราก็พยายามจะเฝ้าด้วย อย่างเช่นช่อง Workpoint หรือช่อง ONE 31 เป็นต้น

บางรายการก็ไม่ได้เอามาออกเฉพาะทีวีเท่านั้น บางรายการออกเฉพาะเฟซบุ๊กไลฟ์หรือยูทิวบ์ไลฟ์ เราก็จะนำเสนอมาให้รับชมด้วย

กระบวนการในการทำงาน เราทำอย่างไงให้เนื้อหามีการอัปเดตและมีเรื่องราวที่น่าสนใจ?

แอดมินเพจ 5 คนมีความสนใจที่แตกต่างกันอยู่แล้วตอนที่มารวมตัวกัน บางคนก็จะสนใจเรื่องโครงข่ายทีวีดิจิตอล เขาก็จะขึ้นไปตามข่าวต่าง ๆ ที่มีโครงข่ายตั้งอยู่ แล้วก็ไปถ่ายภาพให้ลูกเพจได้มารับชม ว่าหน้าตาเป็นอย่างไร และมีการอัปเดตว่าติดตั้งไปถึงไหนแล้ว

บางคนก็จะสนใจเรื่องนโยบายสื่อ ติดตามนโยบายของ กสทช. เกี่ยวกับทีวีว่ามีการเปลี่ยนแปลงกฏอะไรบ้างไหม หรือว่ามีอะไรออกมาใหม่หรือเปล่า

บางคนก็จะสนใจเกี่ยวกับเรื่องกราฟิก เกี่ยวกับฉากในรายการต่าง ๆ ว่ามีความน่าสนใจอย่างไร มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร บางคนก็ติดตามรายการใหม่ ๆ ผังรายการที่มีการย้ายเวลาหรือว่ามีรายการใหม่มาก็จะอัปเดตให้ได้รับชม

รวมถึงบางคนก็สนใจในทีวีต่างประเทศด้วยนอกจากทีวีในประเทศไทย เพราะจะมีการสอดส่องทีวีในต่างประเทศ แล้วก็นำมาเสนอกัน อย่างเช่นบางคนจะชอบในทีวีของอังกฤษก็จะไปดูว่าตัว BBC หรือ ITV ที่มีการแข่งขันกันมาอย่างยาวนาน มีคุณลักษณะอย่างใดบ้าง ล่าสุดก็มีรายงานพิเศษเรื่องทีวีสิงคโปร์ไปซึ่งน่าสนใจมาก เพราะว่าประเทศเขามีภาษาทางการที่ใช้อยู่ถึง 4 ภาษาทีวีเขาก็ได้มีการปรับให้เข้ากับพหุวัฒนธรรมของเขา โดยมีทั้ง 4 ภาษาอยู่ในทีวีด้วย จากความสนใจของแต่ละคนเราก็จะแยกไป

แต่ละคนก็จะนำเสนอประเด็นที่เขาคิดว่า เอามาประชุมร่วมกันว่า อันนี้น่าสนใจนะแล้วก็แบ่งกันไปทำ

มีทัศนะและมุมมองต่อสถานการณ์และความเป็นไปของสื่อไทย เจาะลงไปในทีวีและสื่ออื่น ๆ ว่าเป็นอย่างไรบ้าง มองเห็นความเปลี่ยนแปลงและแนวโน้มที่น่าสนใจอะไรบ้าง?

อย่างที่หลาย ๆ คนพูดกันครับว่าปัจจุบันสื่อออนไลน์กำลังมาแรงมาก แล้วก็สื่อเก่า ๆ อย่างหนังสือพิมพ์ นิตยสาร รวมถึงทีวีเอง ก็อาจจะมีคนดูลดน้อยลงไป แม้ว่าในปัจจุบันคนยังเข้าถึงสื่อทีวีได้มาก แต่ว่าแนวโน้มของมันก็ค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ สื่อราย ๆ เจ้าก็ค่อนข้างออกมาโอดครวนกันในช่วงนี้ว่าสถานการณ์มันย่ำแย่มากเลย อาจจะไปไม่รอด

แต่ในขณะที่หลายๆ สื่อกำลังโอดครวน หลาย ๆ สื่อก็พยายามหาหนทางที่จะรอดให้ได้ โดยส่วนตัวของยามเฝ้าจอเองรวมถึงผมคิดว่า สื่อที่ไม่ยึดติดที่ตัวแพลตฟอร์มหรือตัวช่องทางการออกอากาศจะเป็นผู้อยู่รอดในสงครามครั้งนี้ได้ เพราะในขณะที่บางช่องยังยึดติดอยู่กับนโยบาย TV First ก็คืออะไร ๆ ก็ต้องให้ความสำคัญกับหน้าจอทีวีอันดับหนึ่ง แล้วให้ช่องทางอื่นๆ มาเป็นรอง ขณะที่บางช่องกำลังคิดแบบนี้ แต่หลาย ๆ ช่องก็ปรับตัวเองให้เหมือนกระแสน้ำไหลไปตามช่องทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ นำพาคอนเทนต์คุณภาพของตัวเองไปออกตามช่องทางต่าง ๆ ได้

อย่างที่หลาย ๆ คนเคยพูดไว้ว่า “Content is King” แต่ว่าต้องขอเพิ่มอีกประโยคว่า “Platform is queen” เหมือนกัน ก็คือมีเนื้อหาที่มีคุณภาพแล้ว การกระจายเนื้อหาไปยังแพลตฟอร์มที่หลากหลายก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน รวมถึงเราก็ต้องวางแผนว่าแต่ละแพลตฟอร์มจะนำเสนออย่างไรให้ไม่ซ้ำกัน เพราะแต่ละแพลตฟอร์มก็มีคุณสมบัติ คุณลักษณะที่แตกต่างกันออกไป

บางช่องก็จะใช้การปล่อยรายการเต็ม ๆ ผ่านทีวีไปแล้ว ส่วนโซเชียลมีเดียจะใช้เป็นตัวไฮไลท์ เป็นทีเซอร์ที่ดึงคนให้กลับมาดูทีวีได้ ก็จะใช้หลาย ๆ แพลตฟอร์มร่วมกัน

ถ้าสื่อยังคิดหรือคิดแบบนี้ทั้งหมดไม่ว่าแพลตฟอร์มจะเปลี่ยนไปแค่ไหน แพลตฟอร์มนี้จะตายไป แพลตฟอร์มใหม่จะเกิดขึ้น แต่คอนเทนต์ยังอยู่ และมีการปรับตัวไปยังแพลตฟอร์มต่าง ๆ ได้ ผมว่าสื่อก็น่าจะไปรอดได้ในอนาคตครับ…