พฤหัสสวัสดี : ได้เวลาเปลี่ยนผ่าน

ยามเฝ้าจอวิเคราะห์ : พฤหัสสวัสดี by นายเบนซ์อภินันท์ (@BenzAbhinan)

อย่างที่เกริ่นกันไปก่อนหน้านั้นเรื่องของการที่สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 หรือ “ช่อง 7 สี” จะเริ่มกระบวนการยุติการออกอากาศแอนะล็อกตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน เป็นต้นไป

ตอนนี้ก็น่าจะทราบได้ว่า การยุติการออกอากาศทีวีแบบแอนะล็อกของช่อง 7 สี แบ่งเป็น 3 เฟส คือ

เฟสที่ 1 ประกอบไปด้วยสถานีเครื่องส่ง ชุมพร สงขลา สุโขทัย และพังงา (ตะกั่วป่า) ยุติการออกอากาศวันที่ 1 สิงหาคม 2560

เฟสที่ 2 ประกอบไปด้วยสถานีเครื่องส่ง แม่ฮ่องสอน (ทั้งสถานีดอยกองมู แม่สะเรียง และปาย) ลำปาง กาญจนบุรี ยะลา ตราด นครศรีธรรมราช นครสวรรค์ ระนอง แพร่ สตูล และบุรีรัมย์ ยุติการออกอากาศวันที่ 31 ธันวาคม 2560

เฟสสุดท้าย ประกอบไปด้วยสถานีเครื่องส่ง ประจวบคีรีขันธ์ (ทั้งสถานีทับสะแก และหัวหิน) ชลบุรี สกลนคร อุบลราชธานี เชียงราย มุกดาหาร ตาก ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี เลย ระยอง ขอนแก่น เชียงใหม่ นครราชสีมา มหาสารคาม หนองคาย สระแก้ว ตรัง และกรุงเทพฯ ยุติการออกอากาศวันที่ 16 มิถุนายน 2561 (พร้อมกับสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5)

นั่นคือ นับจากนี้… จะเหลือเวลาอีก 5 วันสำหรับการเปลี่ยนผ่านระบบทีวีแอนะล็อก สำหรับพื้นที่เฟสแรก!!!

และนับจากนี้… ก็จะต้อง “ถึงเวลาเปลี่ยนผ่าน” จากการรับชมทีวีแอนะล็อก…

ไปสู่การรับชมทีวีดิจิตอลอย่างแท้จริง!!

ที่ผมกล่าวมาดังนี้ เนื่องจากที่ผ่านมา สถานีโทรทัศน์ที่ยุติการออกอากาศในระบบเดิม เป็นสถานีโทรทัศน์ที่ยังมีเรตติ้งไม่สูงมากนัก อย่าง “ไทยพีบีเอส” หรือ ททบ.5

แต่การยุติการออกอากาศระบบเดิมของช่อง 7 สี ซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์ที่มีเรตติ้งสูงในลำดับที่ 1 ของประเทศ มันจะส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางมากถึงมากที่สุดเลยทีเดียว!!!

ยิ่งเขตสถานีที่มีผู้รับชมสูงๆ อย่างสถานีสุโขทัย ที่มีพื้นที่ครอบคลุมถึง 4 จังหวัด คือ สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร และกำแพงเพชร หรือสถานีสงขลา ที่มีผู้ฐานผู้ชมที่หนาแน่นมากใน อ.หาดใหญ่

ก็ยิ่งนิ่งนอนใจไม่ได้เช่นกัน!!!

ดังนั้น ผมจึงแนะนำ “การเปลี่ยนผ่าน” ระบบการรับชมทีวี จากระบบเดิม สู่ระบบที่ดีกว่าเดิม

ทั้งความคมชัดของภาพ เสียง และความเสถียรของสัญญาณในระบบดิจิตอล

อุปกรณ์ที่ใช้ก็มีไม่มากครับ อย่างน้อยๆ ก็ต้องมีสายอากาศที่สามารถรับทีวีดิจิตอลได้

จะเป็นหนวดกุ้ง หรือก้างปลา ก็ขึ้นอยู่กับพื้นที่รับสัญญาณของท่านผู้ชมครับ…

ตัวอย่างสายอากาศแบบภายใน (บางคนชอบเรียกเหมารวมว่า หนวดกุ้ง)

ตัวอย่างสายอากาศแบบก้างปลา

พื้นที่รับสัญญาณที่สามารถรับชม สามารถตรวจสอบได้ที่ http://dtvservicearea.nbtc.go.th/webpeople/ ครับ

ซึ่งในเว็บไซต์นี้ สามารถตรวจสอบได้ทั้งพื้นที่ครอบคลุม ข้อมูลสถานีเครื่องส่งว่าใช้ความถี่เท่าใด เพื่อที่จะสามารถตรวจสอบได้ว่าควรจะใช้สายอากาศแบบใดรับสัญญาณ

จากในภาพ แสดงถึงรายละเอียดของที่ตั้งสถานีเครื่องส่งทีวีดิจิตอล ทั้งตำแหน่ง ทิศทาง และย่านความถี่ที่ใช้ในแต่ละโครงข่าย (MUX)

และนอกจากนี้ สิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับการเปลี่ยนผ่าน “ทีวีดิจิตอล” ในครั้งนี้คือ Set-Top-Box

Set-Top-Box ก็คือ กล่องรับสัญญาณ นั่นแหละครับ… การรับสัญญาณทีวีดิจิตอล

หรืออีกทางหนึ่งที่สามารถทำได้คือ…

Digital Built-In TV

ก็คือทีวีที่มีตัวรับสัญญาณทีวีดิจิตอลในระบบ DVB-T2 ในตัวเอง

ซึ่งก็มีหลากหลายยี่ห้อ รุ่น และขนาดให้ได้เลือกสรร

จะชัวร์ไม่ชัวร์… ให้ดูที่ตรารับรองของ กสทช. ดูก่อนก็ได้นะครับ

หลังจากนี้… ท่านก็จะได้รับชมทีวีช่องเดิม ในระบบใหม่ ที่คม ชัด ลึก และดีกว่าเดิม!

รีบๆ หน่อยนะครับ… ก่อนที่จะไม่ได้รับชมอย่างต่อเนื่อง!

/สวัสดี

นายเบนซ์อภินันท์–BenzAbhinan

หมายเหตุ :

  1. หลังจากสัปดาห์นี้ไป สัปดาห์หน้า จะเปลี่ยนคอลัมน์ใหม่จาก “พฤหัสสวัสดี” เป็น “ศุกร์สวัสดี” ออกอากาศทุกวันศุกร์ (เพราะผู้เขียนติดภารกิจ) ส่วนเวลาน่าจะได้ท้าชนกับรายการที่ “โด่งดังที่สุด” ในประเทศไทยด้วย
  2. โลโก้ช่อง 7 สี เป็นเครื่องหมายการค้าและบริการจดทะเบียนของ บริษัทกรุงเทพโทรทัศน์วิทยุ จำกัด ห้ามมิให้ผู้ได้นำไปคัดลอก เผยแพร่ หรือเปลี่ยนแปลง ก่อนได้รับอนุญาตจากทางบริษัทฯ