หมายเหตุ: กฤษฎา แสงเจริญทรัพย์ อาจารย์ประจำสาขาวิชานิติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ให้ความเห็นต่อเหตุการณ์กราดยิงที่จังหวัดนครราชสีมา ในฐานะที่เป็นผู้สนใจในด้านการศึกษาสาเหตุในการประกอบอาชญากรรม (อาชญาวิทยา) โดยมองว่าสื่อควรมีบทบาทมากกว่าการรายงานกระตุ้นอารมณ์ ส่วนรายละเอียดความคิดเห็นมีดังนี้
ในทุกความรุนแรง ล้วนมีเหตุผลซ่อนอยู่เบื้องหลัง
ถึงแม้หลายๆ ท่านคงจะพอเดากันได้ว่าเหตุการณ์กราดยิงที่จังหวัดนครราชสีมาน่าจะจบลงแบบใด แต่ในฐานะที่เป็นผู้สนใจในด้านการศึกษาสาเหตุในการประกอบอาชญากรรม กรณีนี้นับว่าเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ ว่าเหตุใดจึงทำให้คนๆ หนึ่ง ลงมือก่อเหตุอย่างเหี้ยมโหดรุนแรงเช่นนี้
กรณีนี้อาจจะถือได้ว่าเป็นกรณีแรกๆ ของไทยที่เกิดเหตุกราดยิง และมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก แม้ว่าจะเคยมีเหตุการณ์เช่นเดียวกันนี้เกิดขึ้นในต่างประเทศ แต่ด้วยความแตกต่างในเรื่องของสังคม วัฒนธรรม ก็อาจจะส่งผลให้สาเหตุในการก่อเหตุเช่นนี้ มีทั้งความเหมือน หรืออาจจะมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกันอยู่บ้างไม่มากก็น้อย ไม่ใช่เพียงหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ที่มีเกี่ยวข้องแล้ว แต่สื่อมวลชนเองก็เป็นอีกองค์กรหนึ่งที่สามารถมีบทบาทและหน้าที่ในเรื่องดังกล่าวด้วยเช่นกัน
โดยนอกเหนือจากการทำหน้าที่รายงานข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว ยังควรมีการรายงานถึงข้อมูลในเชิงสาเหตุ รากเหง้าต้นตอของปัญหา รวมถึงข้อแนะนำเบื้องต้นให้กับประชาชนในการสังเกต หรือระวังภัย อันจะเป็นประโยชน์แก่สังคม และน่าจะเป็นการดีกว่าการรายงานข่าวในเชิงกระตุ้นเร้าอารมณ์ และความรู้สึกของผู้รับข่าวสาร ที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ แก่สังคม
นอกจากจะเป็นการสร้างความตึงเครียด สร้างความเกลียดชัง วิตกกังวล ก่อให้เกิดอารมณ์ทางด้านลบ รวมถึงการผลิตภาพความรุนแรงซ้ำไปซ้ำมาให้แก่ผู้รับข่าวสารในลักษณะของการมุ่งขายข่าวแต่เพียงอย่างเดียว
การศึกษาสาเหตุอาชญากรรม มีประโยชน์ในเรื่องของการเก็บเป็นข้อมูล เพื่อใช้ในการป้องกัน เฝ้าระวัง รวมถึงการกำหนดเป็นนโยบาย เพื่อไม่ให้เหตุการณ์ร้ายแรงเช่นนี้เกิดขึ้นซ้ำอีก จริงอยู่ที่การวิสามัญคนร้ายรายนี้ อาจจะนำมาสู่ความโล่งใจของหลายๆ ฝ่าย ซึ่งเรื่องนี้ผู้เขียนเข้าใจดีถึงความจำเป็น แต่กับหลายๆ คำถามที่ไม่อาจมีคำตอบได้อีกแล้วในเรื่องของสาเหตุในการลงมือก่อเหตุ ก็อาจจะนำไปสู่การสูญเสียเช่นเดียวกันนี้ซ้ำได้อีกในอนาคต
ผู้เขียนไม่ได้อยากทำตัวให้สวนกระแส และเชื่อแน่ว่าข้อเขียนนี้ของผู้เขียน อาจจะทำให้ผู้อ่านหลายๆ ท่านพิจารณาด้วยสายตา หรือความรู้สึกที่ไม่เข้าใจ อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนพอเข้าใจในสถานการณ์ และเข้าใจการทำงานของเจ้าหน้าที่ รวมถึงสัมผัสได้ถึงความโกรธแค้นของสังคมที่มีต่อผู้ก่อเหตุ และอยากให้เขาได้รับการ “ลงทัณฑ์” อย่างสาสมแทนการถูก “ลงโทษ” ตามที่เขาควรได้รับ
เพียงแต่ในอีกด้านหนึ่งผู้เขียนก็เห็นว่า ความสะใจหรือโล่งใจเพียงชั่วคราว ไม่อาจระงับยับยั้งอาชญากรรมได้อย่างถาวร และยั่งยืน เท่านั้นเองครับ
กฤษฎา แสงเจริญทรัพย์
อาจารย์ประจำสาขาวิชานิติศาสตร์
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี