โดย นายเบนซ์อภินันท์ @BenzAbhinan
ช่วงนี้มีข่าวออกมากันหนาหู ทั้งที่เป็นข่าวจริงหรือข่าวลือ ว่าช่วงนี้เป็นช่วงขาลงของสื่ออย่างแท้จริง
ก็คงจะไม่มีอะไรมากไปกว่า โปรโมชั่นลดแลกแจกแถมของสื่อแต่ละเจ้า และการปิดตัวลงของสื่อสิ่งพิมพ์ ทั้งนิตยสารและหนังสือพิมพ์
ที่น่าจะเป็นการปิดตัวสื่อครั้งใหญ่ที่สุด ก็คงหนีไม่พ้น “เครือเนชั่น” ครับ
มีการลดจำนวนพนักงานด้วยสารพัดวิธี เริ่มจากการเปิดโครงการ Early Retire (ตอนนี้ก็รอบที่ 2 แล้ว) หรือการ “ปลด” พนักงานออก ทั้งปิดตัวนิตยสารรายสัปดาห์ อย่าง “เนชั่นสุดสัปดาห์”
และหนังสือพิมพ์หัวสีรายวันอันดับสี่ “คม ชัด ลึก”
ส่วนสื่ออื่นๆ ในเครือเนชั่นก็ปรับตัวตามไปด้วยเช่นกัน อย่าง “Phuket Gazzete”
ปรับการจำหน่ายจากเดิมจำหน่ายเฉพาะภูมิภาคอันดามันเท่านั้น
เป็นการเพิ่มช่องทางด้วยการแทรกลงไปในในหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่นในฉบับวันเสาร์ทุกสัปดาห์
และที่หนักไปกว่านั้นคือ จะมีการขายกิจการช่อง NOW26 ให้แก่เจ้าของอื่นอีกด้วย
อีกฝ่ายที่เหมือนไม่ค่อยเดือดร้อน แต่ก็มีการปรับตัวอย่างหนักเช่นกัน ก็คือสื่อในเครือ “ทรู” ทั้ง TNN และ True4U
ลดจำนวนฟรีแลนซ์ลง 9 คน จาก 110 คน เป็น 101 คน, จำกัดการเบิกจ่ายบางอย่าง, จำกัดการให้ค่าล่วงเวลา หรือค่าโอที
หวังจะลดต้นทุนและปรับกิจการรับเจ้าของรายใหม่..
สาเหตุหลักๆก็มีอยู่ 3 ประการครับ การแข่งขันอย่างดุเดือดของสถานีโทรทัศน์ดิจิทัล
สภาวะเศรษฐกิจที่ไม่มีวี่แววว่าจะฟื้นตัวได้ในเร็ววันนี้ และการควบคุมสื่อของรัฐบาลทหาร
สถานีโทรทัศน์เองก็บอบช้ำไม่แพ้กัน โปรโมชั่นครั้งใหญ่มากๆที่สุดเลยก็ได้
ชนิดที่ว่า “ลดแลกแจกแถม” อย่างกระหน่ำ
ขนาดสถานีโทรทัศน์ที่เรตติ้งสูงสุด ทั้งระบบ อนาล็อกและดิจิตอล อย่างช่อง 7 สี
ยังต้องลดราคาค่าโฆษณาลงมาเลยครับ
โดยสถานีโทรทัศน์หลักๆ อย่างช่อง 3HD (ช่อง 33), ช่อง 7 สี, และเวิร์คพอยท์ทีวี ลดราคาค่าโฆษณาที่ 10-15%
ช่องรองๆ อย่างโมโน 29, ช่องวัน 31 และช่อง 8 ลดราคาที่ 50-60%
ที่แรงที่สุดคือช่องที่เหลืออย่างช่อง 9 MCOT HD, GMM25 และช่องอื่นๆ ลดราคาตั้ง 80-90%
ในขณะที่สื่อโทรทัศน์กำลังอยู่ในขาลง สื่อใหม่อย่าง “อินเทอร์เน็ต” ก็สวนกระแสขาลงของสื่อ
นับวันยิ่งจะเจริญเติบโตมากขึ้น
ในเดือนพฤษภาคม 2560 พบว่ามีมูลค่า 153 ล้านบาท แม้ว่าจะไม่มากกว่าสื่อในรูปแบบอื่นๆ แต่ก็มากกว่าเดือนนี้ในปีก่อนถึง 15.91%
ในขณะที่ทีวีแอนะล็อก มีมูลค่าที่ 3,657 ล้านบาท ลดลงไปถึง 21.25% จากปีที่แล้ว
ที่หนักที่สุดก็คงไม่พ้นหนังสือพิมพ์และนิตยสาร ที่ใช้เงินลงทุนไปเพียงแค่ 614 และ 148 ล้านบาท
ลดลงจากปีที่แล้วไปถึง 21.98 และ 42.86 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ
ก็คงรู้แล้วว่าตอนนี้สื่อเก่ากำลังจะตาย โดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ที่ต้องมีค่าใช้จ่าย (ส่วน Free Copy ไม่ค่อยมีผลกระทบมากเท่าใดนัก)
แต่สำหรับ “ทีวี” คงไม่มีวันตายง่ายๆ หรอกครับ
เพียงแค่มันอาจจะ “เปลี่ยนผ่าน” การนำเสนอจากรูปแบบเก่า ผ่านทีวีธรรมดาๆ
ไปสู่รูปแบบใหม่ที่ให้มากกว่าเพียงแค่ทีวี ก็เป็นไปได้…