หลังที่ห่างหายจากเพจไปนาน เนื่องด้วยติดภารกิจ วันนี้ ผม “นายเบนซ์อภินันท์” ก็ได้กลับมาทำหน้าที่ประจำ “ยามเฝ้าจอ” ตามเดิมครับ
ในพฤหัสนี้ ขอนำเสนอตอน “ยื้อ” ครับ
เมื่อประมาณต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ตัวแทนจากบริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด (BBTV) ผู้ดำเนินสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ในระบบอนาล็อก และสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 HD ในระบบดิจิตอล ได้ยื่นแผนการยุติการออกอากาศโทรทัศน์ระบบอนาล็อกต่อคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ไปแล้ว
โดยรายละเอียดโดยคร่าวๆ พบว่า ทางช่อง 7 สีจะเริ่มยุติการออกอากาศโทรทัศน์ในระบบอนาล็อกเป็นพื้นที่ ซึ่งจะเริ่มยุติการออกอากาศในกลุ่มพื้นที่แรกในวันที่ 15 มิถุนายน 2560 และกลุ่มพื้นที่สุดท้ายยุติการออกอากาศในช่วงปี 2561
ซึ่งรายละเอียดที่แท้จริงจะแจ้งให้ทราบต่อไปเมื่อ กสทช. และ ช่อง 7 เริ่มประกาศพื้นที่ที่จะยุติการออกอากาศในระบบอนาล็อก
.
เมื่อเทียบกับข้อมูลพื้นที่ครอบคลุมสัญญาณทีวีดิจิตอลเมื่อติดตั้งสถานีเครื่องส่งทีวีดิจิตอลครบ 3 ปี ตั้งแต่ปี 2557 ถึงเดือนมิถุนายน 2559 พบว่า มีจำนวนครัวเรือนทั้งหมดในประเทศไทยที่ 22,836,819 ครัวเรือน พื้นที่ที่สัญญาณครอบคลุมมีมากถึง 20,553,193 ครัวเรือน หรือคิดเป็นร้อยละ 90.00
พื้นที่ครอบคลุมมีมากถึงร้อยละ 90 ของพื้นที่ประชากรที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย อาจจะมีล้นไปทางฝั่งประเทศเพื่อนบ้านบ้างในบางสถานีเครื่องส่งที่ใกล้ชายแดน เช่น สถานีอุดรธานี สถานีมุกดาหาร สถานีสระแก้ว สถานีสงขลา เป็นต้น
และในอนาคต ก็จะตั้งสถานีเสริมในลักษณะ Gap Filler เพื่อให้ได้พื้นที่ครอบคลุมให้ได้ไม่ต่ำกว่า 95 ซึ่งคาดว่าจะได้พื้นที่ครอบคลุมประมาณร้อยละ 98 ของพื้นที่ประชากร
ประเด็นหลักมันอยู่ที่ พื้นที่ประชากรที่หวังให้ครอบคลุมถึงร้อยละ 95-98 และหากพื้นที่ใดที่ไม่สามารถรับด้วยทีวีดิจิตอลภาคพื้นดินได้ ก็ยังมีการเสริมด้วยเคเบิลทีวี หรือทีวีดาวเทียม สุดแท้แล้วแต่จะใช้
เมื่อพื้นที่ประชากรครอบคลุมมากพอที่จะสามารถยุติการออกอากาศระบบอนาล็อกแล้ว จึงไม่จำเป็นที่จะต้องออกอากาศทีวีในระบบอนาล็อกอีกต่อไป
เพราะอย่าลืมนะว่าทีวีอนาล็อก ต้องใช้เครื่องส่งที่มีกำลังส่งสูง ในพื้นที่ทั่วไปใช้กำลังส่งอย่างน้อย 5 กิโลวัตต์
พื้นที่เล็กๆ ก็ต้องใช้ 1 กิโลวัตต์
พื้นที่ใหญ่ๆ ใช้อย่างต่ำ 10 กิโลวัตต์บ้าง 15 กิโลวัตต์บ้าง 20 กิโลวัตต์บ้าง
กำลังส่งสูงสุด ณ สถานีกรุงเทพฯ อยู่ที่ 30 กิโลวัตต์
ยิ่งใช้เครื่องส่งกำลังสูงมากเท่าไหร่ ยิ่งกินไฟมากเท่านั้น
ในขณะที่สถานีเครื่องส่งทีวีดิจิตอลใช้กำลังส่งเพียงแค่ 100 วัตต์ ก็สามารถออกอากาศทีวีดิจิตอลได้ไกลในรัศมี 5 – 10 กิโลเมตรได้แล้ว
กำลังส่งสูงสุดที่ประเทศไทยใช้ อยู่ที่อาคารใบหยก 2 เดินเครื่องแค่ 4 กิโลวัตต์เอง (รวมกับค่าขยายจากแผง BAY ของตึกแล้วก็จะได้ประมาณ 100 กิโลวัตต์)
ที่เหลือก็ไปอุดกับ Gap Filler เป็นสถานีย่อยของช่องต่างๆ บ้าง สถานีวิทยุบ้าง เสาโทรศัพท์บ้าง
.
มองไปที่ช่อง 3 ที่อยู่ในติดสัญญาสัมปทานกับ อสมท ซึ่งสัมปทานนี้จะหมดลงในปี 2563
เป็นสัญญาสัมปทานฉบับที่ 4 แล้ว…
อย่าลืมนะว่า อสมท อยู่ในภาวะขาดทุนบักโกรกอยู่เยอะเชียว
ในปี 2559 อสมท ขาดทุนมากถึง 757.79 ล้านบาท แต่ถ้าไม่ได้ “กระทะในตำนาน” เป็นพระเอกขี่ม้าขาวช่วยพยุงไว้ ก็อาจจะเข้าขั้นต้องลดขนาดกิจการได้เลย
สิ่งเดียวที่ อสมท จะต้องไม่ขาดทุนไปมากกว่านี้คือ การนำเงินสัมปทานมาใช้
เงินสัมปทานที่ อสมท ได้จากช่อง 3 มีเพียงแค่ปีละ 240 ล้านบาท แต่ถึงกระนั้น อสมท ก็ยังต้องการอยู่
ส่วนแบ่งค่าโฆษณาอย่าได้ถามถึง ช่อง 3 เอาไปรับประทานเรียบร้อยโรงเรียนมาลีนนท์แล้วล่ะ
นี่ยังไม่รวมเครื่องส่ง อุปกรณ์การออกอากาศที่ช่อง 3 ต้องซื้อให้ช่อง 9 อีกเยอะเชียว
ในขณะที่ กองทัพบก คู่สัญญาสัมปทานกับช่อง 7 กำลังจะหมดสัญญาสัมปทานในปี 2566
แต่ขอเริ่มยุติการออกอากาศในระบบอนาล็อกก่อนในปีนี้
ทำให้เกิดคำถามว่าทำไมถึงต้อง “ยื้อ” การออกอากาศทีวีอนาล็อกได้ขนาดนี้…?