COFACT ประเทศไทย จัดเสวนาถอดบทเรียนช่วงสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาดและความต้องการของวัคซีนที่มีอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดข่าวปลอมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หลายฝ่ายแนะ รัฐเปิดใจ ร่วมมือสื่อ ช่วยคลายวิกฤติได้
“3 พฤษภาคม ของทุกปี” ถูกกำหนดให้เป็น “วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก” โดยองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) เพื่อเน้นย้ำความสำคัญของบทบาทสื่อมวลชนและการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร เริ่มตั้งแต่ปี 2534 เป็นต้นมา ซึ่งสำหรับวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก 3 พ.ค. 2564 หนึ่งในกิจกรรมที่จัดขึ้นของประเทศไทยคือ เวทีเสวนา (ออนไลน์) World Press Freedom Day 2021 : Digital Thinkers Forum เวทีนักคิดดิจิทัลครั้งที่ 15 ว่าด้วยเรื่อง Information as A Public Good
งานครั้งนี้จัดโดยจัดโดยภาคีโคแฟค (COFACT) ประเทศไทย ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และภาคีเครือข่ายอีกหลายองค์กร โดยภายในงานมีเวทีเสวนา (ออนไลน์) เรื่อง “วารสารศาสตร์แห่งความจริงในยุคโควิด บทเรียนและอุปสรรค” เชิญทั้งนักวิชาการและคนทำงานในแวดวงสื่อมวลชนมาร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลและความเห็นในประเด็นบทบาทของสื่อมวลชนในสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19
จีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง เลขาธิการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในปีนี้ครบ 30 ปีวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก และในปีนี้ยังตรงกับสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งในแถลงการณ์ร่วมเนื่องในโอกาสวันเสรีภาพสื่อมวลชนประจำปี 2564 ของสมาคมสื่อ 3 องค์กร ประกอบด้วย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ก็หยิบยกเรื่องนี้มากล่างถึง
โดยแม้รัฐบาลจะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อควบคุมสถานการณ์โรคระบาด แต่ก็ส่งกระทบต่อการทำงานของสื่อมวลชน อันเป็นสิ่งที่รัฐธรรมนูญรองรับสิทธิและเสรีภาพไว้ รัฐจึงควรปล่อยให้มีการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสาร และคุ้มครองการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ขณะเดียวกัน สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังทำให้คนทำงานในแวดวงสื่อมวลชนต้องเผชิญความท้าทาย
เช่น ผู้สื่อข่าวในต่างจังหวัดต้องลงพื้นที่ทำข่าวภายใต้มาตรการที่แตกต่างกันของสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) อาทิ จังหวัดหนึ่งมีการแถลงข่าวสถานการณ์ในจังหวัดแต่อีกจังหวัดหนึ่งไม่มีการแถลงข่าว ขณะที่สื่อมวลชนส่วนกลาง พบบุคลากรหลายสำนักข่าวติดเชื้อโควิด-19 ทำให้กองบรรณาธิการต้องแก้ไขสถานการณ์หมุนเวียนกำลังคน แต่ละคนต้องสามารถทำงานแทนกันได้
อนึ่ง ในขณะที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. 2563 เป็นต้นมา ก็มีคำถามว่าอะไรทำได้-ไม่ได้ เช่น ในช่วงที่มีการประกาศห้ามออกจาเคหสถานในยามวิกาล หรือเคอร์ฟิว มีความกังวลกันว่ารถส่งหนังสือพิมพ์จะเดินทางได้หรือไม่ ก็มีการพูดคุยกับภาครัฐจนผ่านไปด้วยดี อย่างไรก็ตาม คนทำงานสื่อได้ตั้งข้อสังเกตบทบาทของ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ที่แตกต่างกันในการระบาดในแต่ละระลอก อาทิ ระลอกแรกสื่อสารได้ชัดเจน ส่วนระลอก 2 กลับไม่ชัดเจน
หรือในระดับจังหวัด ที่ สสจ. บางจังหวัดจัดทำข้อมูลไม่ชัดเจน อาทิ ไทม์ไลน์ของผู้ติดเชื้อ มีเสียงสะท้อนจากผู้สื่อข่าวระดับท้องถิ่นว่าบางจังหวัดไม่เปิดเผยข้อมูล อีกทั้งการที่ฝ่ายรัฐมุ่งแถลงข่าวเพียงเวลา 11.30 น. เวลาเดียว ยังไม่ทันต่อกระแสข่าวที่เกิดขึ้นตลอดทั้งวัน เช่น กรณีรัฐมนตรีบางท่านโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว บอกจะใช้มาตรการล็อกดาวน์ 3 จังหวัดทางภาคตะวันออก ในช่วงการระบาดระลอก 2 แต่กว่าจะมีการชี้แจงว่าไม่ล็อกดาวน์ต้องรอไปจนถึงเวลา 11.30 น. ของวันรุ่งขึ้น ทำให้เกิดความตื่นตระหนกและสื่อก็พลอยตกเป็นจำเลยสังคมไปด้วย
หรือกรณีของคำสั่งกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในช่วงการระบาดระลอก 2 ที่ให้รับประทานอาหารในร้านได้ถึงเวลา 19.00 น. แต่หลังจากนั้นเพียงไม่กี่ชั่วโมง นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ผู้ว่าฯ กทม. ยกเลิกคำสั่งดังกล่าวโดยให้เปลี่ยนเป็นรับประทานอาหารในร้านได้ถึงเวลา 21.00 น. แทน ประเด็นนี้คือการที่ข้อมูลที่ถูกต้องของรัฐขัดแย้งกันเอง ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มากในการสื่อสารของรัฐในภาวะวิกฤติที่ภาครัฐต้องระมัดระวัง ในขณะที่ภาครัฐกล่าวโทษสื่อไม่นำเสนอข้อมูลครบถ้วนรอบด้าน ผู้มีอำนาจในหน่วยงานภาครัฐก็ต้องกล้าสะกิดเตือนกันเองด้วย
จีรพงษ์ กล่าวต่อไปว่า ส่วนเรื่องเสรีภาพก็ยอมรับว่าสื่อมวลชนทำงานได้ยากขึ้น จากเดิมที่ปกติการขอข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ ก็มีข้อจำกัดอยู่แล้ว ในสถานการณ์โรคระบาดแบบนี้ หน่วยหน่วยงานอาจกลัวว่าเชื้อจะมากับสื่อมวลชนซึ่งก็ยอมรับว่าในแวดวงสื่อมีผู้ติดเชื้อจริง แต่เมื่อแหล่งข่าวกลัวการพบปะสื่อ ก็ส่งผลให้กลายเป็นการสื่อสารทางเดียว (One Way Communication) จากแหล่งข่าว โดยที่ผู้สื่อข่าวจะตั้งคำถามกลับนั้นทำได้ยาก
“ผมมีข้อเสนออย่างหนึ่ง ผมว่ามันเป็นโอกาสหนึ่งที่รัฐจะใช้โอกาสในวิกฤติในการที่รัฐจะพูดคุยกับสื่อเหมือนเป็นภาวะปกติเลย คือเวลามีปัญหาในสถานการณ์ไหนก็แล้วแต่ ข่าวสารไหนก็แล้วแต่ รัฐมีพื้นที่ที่จะเปิดให้กับสื่อมวลชนเข้าไปรับความรู้ได้ เปิดมาเลยหน่วยงานไหนทำเรื่องวัคซีน เปิดเป็นวงปิดก็ได้ให้นักข่าวไปฟังความรู้ในเรื่องที่ไปที่มาของวัคซีน หรือเรื่องอะไรก็แล้วแต่ในการบริหารจัดการในภาวะวิกฤติ
ทุกเรื่องไม่จำเป็นต้องถ่ายทอดสด ทุกเรื่องไม่จำเป็นต้องเป็นกราฟฟิกโผล่ในหน้าเฟซบุ๊ก ชวนนักข่าวไปนั่งคุยไปหาความรู้ได้ เพราะอย่าลืมว่าในสถานการณ์วิกฤติข่าวต้องนำเสนอความรู้ ต้องถอดบทเรียนกันทุกอาชีพไม่ใชแค่รัฐหรือสื่อมวลชน ฉะนั้นใช้โอกาสนี้ที่จะเข้าไปนั่งเรียนรู้ร่วมกันก็ดี” เลขาธิการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าว
ขณะที่ นภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ บรรณาธิการข่าวออนไลน์ เวิร์คพอยท์ ทูเดย์ กล่าวว่า การระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นสถานการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้น บรรยากาศแบบนี้สังคมมีความต้องการสื่อมืออาชีพมากที่สุดอย่างที่ไม่เคยมีมากก่อน จากการแพร่กระจายของข่าวปลอมบ้าง ข้อมูลเก่าบ้างที่อาจส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คน วงการสื่อต้องการคนทำงานที่รอบรู้ข่าวสารต่างประเทศ มีทักษะภาษา มีความเข้าใจเรื่องการแพทย์ ตลอดจนรูปแบบการทำงานของสื่อออนไลน์และภาษาที่ใช้บนโลกออนไลน์
สำหรับสถานการณ์ของประเทศไทย พบว่า เมื่อสื่อนำเสนอข่าวกระบวนการจัดหาวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ก็จะไปกระทบกระทั่งกับการบริหารของรัฐบาลบ้าง หรือถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไปแตะต้องประเด็นอ่อนไหว (Sensitive) บ้าง ซึ่งสื่อไม่ต้องการสร้างความกระด้างกระเดื่องต่อผุ้มีอำนาจ แต่สิ่งสำคัญคือสื่อควรได้เข้าไปทำหน้าที่การคลายข้อสงสัย และปล่อยให้บรรยากาศในภาพรวมมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น
“ยกตัวอย่างหนึ่งในสิ่งที่เป็นความรู้คือเรื่องประสิทธิภาพของวัคซีน ที่ผ่านมาเราจะเห็นกราฟฟิกประสิทธิภาพที่บอกว่าไฟเซอร์ 96% ซิโนแวค 50% อันนี้ทุกคนเห็นกัน ทั้งที่หลายคนอาจจะรู้สึก วัคซีนตัวนี้ชี้บ่งว่าคนฉีด 100 คนแปลว่าจะต้องเป็นโควิด 50 คน อันนี้คือสิ่งที่เราไปสำรวจมาแล้วก็ได้ฟังมา ทำให้เราได้ทำสกู๊ปชิ้นหนึ่งขึ้นมา ประเด็นคือทำความเข้าใจประสิทธิภาพของวัคซีน สกู๊ปชิ้นนี้ความศรัทธาความเชื่อมั่นในของรัฐบาลตอนนี้ตกต่ำเป็นอย่างมาก พอเราทำสกู๊ปชิ้นนี้ขึ้นมาก็มีคนที่ไม่ชอบรัฐบาลมาด่าเราเต็มไปหมด เป็นสื่อสลิ่มบ้าง เอาใจนายบ้าง
แต่สุดท้ายเราก็ปล่อยสกู๊ปชิ้นนี้แล้วก็ไม่ได้ลบแต่อย่างใด ปล่อยให้มันทำงานไปเพราะเรามั่นใจว่าข้อมูลนี้เป็นข้อมูลที่สำคัญ เป็นข้อมูลที่พูดตรงๆ เราก็สงสัยว่าทำไมรัฐบาลไม่ออกมาสื่อสารในเรื่องนี้ สิ่งที่รัฐบาลทำคือกราฟฟิกวัคซีนทิพย์ บอกให้คนทำสมาธิเพิ่มปกป้องตนเองจากวัคซีน ทั้งที่ยังมีข้อมูลอีกหลายอย่างที่ถ้าภาครัฐนำเสนอออกไป มาคุยกับเราก็ได้ว่าเราเห็นอะไรที่ภาครัฐควรนำเสนอ หลายอย่างที่ถ้าทำออกไปจะช่วยสถานการณ์ได้มาก” บรรณาธิการข่าวออนไลน์ เวิร์คพอยท์ ทูเดย์ ระบุ
จากคนทำงานสู่ภาควิชาการ ผศ.ดร.ณภัทร เรืองนภากุล อาจารย์คณะสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และผู้ร่วมภาคีโคแฟค ประเทศไทย กล่าวว่า ไวรัสโควิด-19 กลับมาระบาดในไทยเป็นระลอกที่ 3 แล้ว แต่ครั้งนี้มาพร้อมกับข่าวสารเกี่ยวกับวัคซีนทั้งที่เป็นข่าวปลอม (Fake News) และการสื่อสารที่คลาดเคลื่อน (Misleading) เช่น วัคซีนฝังไมโครชิปบ้าง เปลี่ยนรหัสพันธุกรรม (DNA) บ้าง หรือผิดหลักศาสนาบ้าง บางข่าวมีการอ้างบุคคลหรืองานวิจัยที่ดูน่าเชื่อถือ ทำให้ทีมงานโคแฟคต้องสืบค้น และพบว่าบางส่วนก็เป็นความจริงและไม่จริงในข่าวเดียวกัน
อาทิ มีการอ้างถึงบุคคลทำงานในบริษัทวัคซีน ซึ่งบุคคลดังกล่าวทำงานจริงแต่ไม่ได้อยู่ในส่วนผลิตวัคซีน หรือเมื่อเข้าไปค้นฐานข้อมูลวารสารวิชาการที่ถูกอ้างถึงก็พบว่าไม่มีงานวิจัยนั้นอยู่จริง หรือมีแม้กระทั่งการสะกดชื่อวารสารแบบผิดๆ หากไม่สังเกตก็จะกลายเป็นการส่งต่อข้อมูลที่ผิดได้ เป็นต้น ขณะที่ความท้าทายสำคัญ ด้านหนึ่งคือการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารทำนองนี้มักส่งต่อในกลุ่มปิด เช่น กลุ่มไลน์ (แอปพลิเคชั่น Line) ที่ผู้ส่งต่อข้อมูลเป็นบุคคลที่ไว้วางใจ เป็นเพื่อนบ้าง ญาติบ้าง บุคคลที่เคารพนับถือบ้าง ทำให้หลายคนเกิดความเชื่อและส่งข้อมูลต่อไปอีก
ส่วนอีกด้านหนึ่งคือประชาชนอาจไม่ไว้วางใจการทำงานของรัฐบาลหรือหน่วยงานภาครัฐ ทำให้เปิดรับข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ มากขึ้น โดยที่ประชาชนเองก็ขาดทักษะในการคัดกรองว่าอะไรคือข่าวปลอม อะไรคือข้อมูลจริงบางส่วน สถานการณ์เหล่านี้ไมได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย แต่ยังเกิดขึ้นในอีกหลายประเทศ เช่น ไนจีเรีย ที่มีผู้ทำการศึกษาพบว่า ผู้ส่งต่อข้อมูลไม่ได้ส่งเพราะความบันเทิง แต่มาจากความห่วงใยสุขภาพของคนที่ตนเองรู้จัก
ผศ.ดร.ณภัทร ยังตั้งข้อสังเกตถึง “การหั่นซอยข้อมูล” เช่น ข่าวชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่และส่งต่ออ้างว่าเป็นแพทย์จากโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง แม้จะระบุชื่อโรงพยาบาลแต่ไม่ระบุว่าแพทย์ท่านนั้นชื่ออะไร ทำให้การสืบค้นตรวจสอบข้อเท็จจริงเป็นไปได้ยาก แต่การห้ามหรือปิดกั้นไม่ให้ส่งต่อข้อมูลเพราะกลัวจะเป็นข่าวปลอมก็ไม่น่าใช่หนทางที่ถูกต้อง สิ่งที่ควรจะเป็นคือข้อมูลนั้นต้องมีคุณภาพ ตรวจสอบแหล่งที่มาได้และได้รับการตรวจสอบแล้วก่อนเผยแพร่หรือส่งต่อให้กันและกัน เพื่อให้ข้อมูลนั้นเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ
“ข้อมูลที่น่าเชื่อถือก็มีอีกประการที่สำคัญคือเรื่องของเวลาของข้อมูลเหล่านั้น เช่น ข้อมูลที่เผยแพร่เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เมื่อถึงเดือนเมษายนก็อาจจะมีการอัพเดตข้อมูลที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นสิ่งที่เราต้องระมัดระวัง เป็น Fake News (ข่าวปลอม) หรือเปล่า เป็น Misinformation (ข้อมูลผิดๆ) หรือเปล่า เป็นความจริงบางส่วนหรือเปล่าด้วย เพราะตอนต้นอาจจะเป็นความจริง แต่ด้านท้ายของ Content (เนื้อหา) อาจจะเป็น Misinformation ไปแล้ว แล้วก็ข้อมูลเหล่านั้นที่ว่าเป็นข้อมูลจริง จริงเมื่อระยะเวลาใดด้วย” ผศ.ดร.ณภัทร กล่าว
ปิดท้ายด้วย รศ.ธีรภัทร วรรณฤมล คณบดีคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ความเห็นว่า การนำเสนอข่าวนั้นข้อเท็จจริง (Fact) เป็นสิ่งสำคัญที่สุด มากกว่าการใส่สีตีไข่เพื่อเรียกเรตติ้ง รวมถึงแยกข้อเท็จจริงออกจากข้อคิดเห็น (Opinion) เพราะสถานการณ์วิกฤตินั้นมีความสำคัญกับความเป็นความตายของคน ซึ่งการที่มีข่าวปลอมออกมาแพร่หลาย เพราะไม่มีข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงทำให้สังคมเชื่อถือ
นอกจากนี้ การสื่อสารให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อยนไปกว่ากัน อาทิ ไต้หวัน มีสถานีวิทยุแห่งหนึ่งจัดสรรเวลาเพื่อจัดรายการให้ความรู้การปฏิบัติตนในสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 แบบจำเพาะเจาะจงกลุ่มนักศึกษาบ้าง ชาวต่างชาติบ้าง ว่าจะต้องทำอะไรบ้าง ต้องเดินทางกลับภูมิลำเนาหรือไม่ ต้องทำวีซ่าหรือไม่ โดยให้ประชากรแต่ละกลุ่มดังกล่าวโทรศัพท์เข้ามาสอบถามและได้คำตอบอย่างชัดเจน ชี้ให้เห็นว่าในช่วงเวลาแบบนี้สื่อมวลชนสามารถเป็นที่พึ่งของประชาชนได้มาก
“สิ่งสำคัญที่สุดของสื่อคือต้องผลิตข่าวสารที่มีคุณภาพ ในช่วงที่ผ่านมาเราอาจจะเห็นว่าสื่อแข่งขันกันในเรื่องความเร็ว แต่ช่วงวิกฤติไปแข่งเรื่องความเร็วไมได้ ต้องแข่งในเรื่องข่าวสารที่มีคุณภาพ เน้นความถูกต้องและเน้นความน่าเชื่อถือ ถ้าเกิดเป็นข่าวที่ไม่ถูกต้องมันก็อาจจะเกิดอาการโกลาหลขึ้นมา บางทีอาจไปถึงขั้นชีวิตความเป็นอยู่ ความเป็นความตายได้” รศ.ธีรภัทร กล่าว
รศ.ธีรภัทร ฝากทิ้งท้ายว่า รัฐบาลนั้นทั้งกลัว (Fear) และชื่นชอบ (Favour) สื่อในบางส่วน ทำให้การไหลเวียนของข่าวสารเป็นไปค่อนข้างลำบาก แต่หากนำตัวแบบ (Model) การสื่อสารในภาวะวิกฤติที่พัฒนามาจากสถานการณ์การระบาดของโรคแอนแทรกซ์ (แบคทีเรีย Bacillus Anthracis) หรือไข้หวัดใหญ่ 2009 (ไวรัส H1N1) มาปรับใช้ เช่น “ช่วงก่อนการระบาด” เมื่อพบข่าวโรคประหลาดระบาดในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน เป็นเวลาที่ต้องเตรียมการสร้างเครือข่ายที่มีทั้งนักวิชาการและสื่อมวลชนมาหารือกัน ว่าจะให้ข้อมูลอย่างไร
ต่อมา “ช่วงระหว่างการระบาด” ที่ครั้งนี้ค่อนข้างจะยาวนานมากและมีข้อมูลใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพบว่าลำพังการแถลงข่าวของ ศบค. วันละครั้งไม่เพียงพอ และที่สำคัญต้องให้ความสำคัญกับเสียงสะท้อน โดยประสบการณ์ที่เคยทำงานฝ่ายสื่อสารองค์กรของมหาวิทยาลัย เห็นว่าเสียงสะท้อนจากสื่อมวลชนช่วยได้มาก ว่าเมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นควรจะออกแถลงการณ์หรือแถลงข่าวอย่างไร การเปิดใจคุยกันและทำงานร่วมกันทำให้สถานการณ์คลี่คลายลงด้วยดี
ดังนั้นเมื่อวิกฤติไวรัสโควิด-19 จบลง “การถอดบทเรียน” จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อเตรียมไว้รับมือวิกฤติอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต!!!