Lady Diana on BBC Panorama

สื่อมวลชนกับการติดตามเจ้าหญิงไดอาน่าจนล้ำเส้น?

เมื่อวานได้ดูสารคดีของนิตยสาร People ที่ชื่อว่า The Story of Princess Diana (ใน Netflix) ถือเป็นอีกหนึ่งในหลายร้อยสารคดีที่เล่าถึงชีวประวัติของเจ้าหญิงไดอาน่าได้อย่างน่าสนใจ

Lady Diana on BBC Panorama
Photo: BBC

เพราะมีการพูดถึงคู่อริคนสำคัญอย่างหนังสือพิมพ์แทบลอยด์ The Sun ที่เลือกหยิบเธอนำมาขึ้นในหน้า 3 ที่เป็นภาพผู้หญิงสวยๆ มาขึ้น อยู่ประจำ แต่คราวนี้ถึงคิวของเธอ เพราะกำลังเป็นข่าวว่ามีความสัมพันธ์กับเจ้าฟ้าชายชาลส์

เมื่อภาพเผยแพร่ออกไป เธอได้รับความสนใจอย่างรวดเร็ว สื่อจับตามองเธออย่างไม่กระพริบ

ประกอบกับเวลานั้น ภาพลักษณ์ของสถาบันก็เริ่มไม่ค่อยดี เกิดการประท้วงในประเด็นนี้อย่างต่อเนื่อง

การเข้ามาของเจ้าหญิงไดอาน่าทำให้ภาพลักษณ์ของสถาบันฯ อังกฤษ ดีขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะก่อนหน้านี้คนรุ่นใหม่เริ่มตั้งคำถามต่างๆ นานามากขึ้น

ถึงอย่างไรก็ดี เธอยังอยู่ภายใต้การติดตามของสื่ออย่างตลอด เหมือนกับเธอเป็น ‘คิม คาร์เดเชียน’ ในยุคนี้ก็ไม่ผิดนัก

เพียงแต่สมัยก่อนไม่มี Social Media ไม่มี Instagram ผู้คนจึงเฝ้ารอข่าวจากหนังสือพิมพ์และทีวี ที่ออกไปทำข่าวมาได้เราได้เสพกัน

ในสารคดี บางคนก็ตั้งข้อสังเกตว่าไดอาน่าก็เล่นกับสื่ออยู่พอสมควร ในช่วงแรกๆ อาจเป็นแค่การต่อสู้กับเจ้าฟ้าชายชาลส์ (เนื่องจากความสัมพันธ์ระหองระแหง)

แน่นอนการเลือกเล่นกับสื่อ ก็เหมือนลงเข้าไปในกองไฟ

ทำให้ไดอาน่าถูกสื่อติดตามอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรของเจ้าหญิงไดอาน่า ลงไปก็ขายดิบขายดีทุกครั้ง

เรื่องเริ่มบานปลาย จนสภาฯ อังกฤษ ต้องเรียกสอบสวน The Sun แต่ผู้บริหารอ้างว่าเป็นสิ่งที่เขาควรต้องนำมาให้ประชาชนรับรู้

ความสำคัญของเรื่องเจ้าหญิงไดอาน่าสำคัญขนาดไหน ก็คงเห็นได้จากการที่จอห์น เมเยอร์ นายกรัฐมนตรีของอังกฤษในปี 1993 ประกาศกลางสภาว่าไดอาน่าทรงแยกกันอยู่กับเจ้าฟ้าชายชาลส์ แต่ยังไม่มีการหย่ากัน

แค่เรื่องนี้ก็สร้างความอึมครึมทั่วเกาะอังกฤษไปพอสมควร

ยิ่งยุคนั้น ช่องข่าว 24 ชั่วโมงและทีวีดาวเทียมบูมขึ้นมายิ่งไปกันใหญ่

มีการเผยแพร่เทปเสียงลับระหว่างไดอาน่าและคนสนิท กับ ชาร์ลและคามิลล่า ทางทีวีอีกด้วย

แต่ความสัมพันธ์ของชาลส์และไดอาน่ายังไม่ดีขึ้น ฟางเส้นสุดท้ายที่เกิดขึ้นก็คือ ไดอาน่าตัดสินใจให้สัมภาษณ์ กับรายการ Panorama ทางช่อง BBC1 เปิดเผยทุกอารมณ์และความรู้สึกแบบหมดเปลือก

หลังจากนั้นก็หย่าขาดกันโดยสมบูรณ์ มีการแบ่งทรัพย์สิน และขอใช้ชื่อเดิมในนามเจ้าหญิง แต่ไม่ได้อยู่ในราชวงศ์อีกต่อไป

ทำให้ไดอาน่าไม่มีตำรวจคุ้มกันอีกต่อไป ซึ่งทำให้สื่อติดตามเธอได้ง่ายกว่า ปาปารัสซี่ยุค 90 เฟื่องฟูเพราะเธอคงไม่ผิดนัก และเริ่มลามไปยังนักแสดงคนอื่นด้วย

ถึงอย่างไรก็ดี เธอเลือกใช้สื่อในการช่วยเหลือกลุ่มคนที่ยากไร้และลำบากต่อไป

แต่นักข่าว-ปาปารัสซี่ก็ยังตามติด ยังคอยติดตามว่าหลังหย่าแล้ว ไดอาน่าจะไปไหน จะไปกับคนสนิทคนไหนอีก

จนเป็นเหตุให้ไดอาน่าและคนสนิท เสียชีวิตจากการขับรถหนีนักข่าวที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

หลังข่าวการเสียชีวิตเผยแพร่ออกมา กลุ่มคนที่ถูกต่อว่าก็คงหนีไม่พ้น “สื่อมวลชน”

ที่ในเวลานั้น หลายคนมองว่า สื่อเป็นต้นเหตุที่ทำให้เจ้าหญิงผู้เลอโฉม จากไปตลอดกาล

เราเห็นอะไรจากเรื่องนี้บ้าง และถ้าเกิดเหตุแบบนี้ในไทย… เราจะทำอย่างไรกันดี