วันนี้ (18 ม.ค. 61) พันเอก ดร.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รองประธาน กสทช.) เปิดเผยหลังการประชุมรับฟังความคิดเห็นกลุ่มย่อยเกี่ยวกับ ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz มาตรการทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทน หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 700 MHz
โดยการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz จากผู้ได้รับใบอนุญาตให้ใช้งานคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล จะถูกนำมาจัดสรรใหม่สำหรับกิจการโทรคมนาคม (5G) และนำเงินที่ได้จากการจัดสรรใหม่มาทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนแก่ผู้ประกอบการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลเพื่อลดต้นทุนการประกอบกิจการ ตามร่างประกาศ กสทช. ต่อไป
Table of Contents
เหตุผลในการร่างประกาศดังกล่าว
เหตุผลแรก คือ สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) กำหนดให้คลื่นความถี่ 700 MHz เป็นคลื่นความถี่หลักสำหรับกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 5G ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานของโลกยุคใหม่ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งนำเอาคลื่นความถี่ 700 MHz มาจัดสรรใช้งานเพื่อผลักดันการให้บริการ 5G
เหตุผลที่สอง บทบัญญัติมาตรา 27 (12/1) แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม หรือ พ.ร.บ.กสทช. (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 กำหนดอำนาจให้ กสทช. สามารถเรียกคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า หรือนำมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่ามากยิ่งขึ้น
เหตุผลที่สาม เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปได้ส่งผลให้อุตสาหกรรมโทรทัศน์มีความจำเป็นที่ต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างครั้งสำคัญ เพื่อให้สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบกิจการที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ได้ (ผู้ให้บริการ OTT) โดยต้องลดภาระต้นทุนของผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัลที่ผู้ให้บริการ OTT ไม่ต้องแบกรับ เช่น ต้นทุนด้านการประมูล ค่าเช่าบริการโครงข่ายเพื่อให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล (MUX) และค่าเช่าโครงข่าย
ทั้งนี้ การลดต้นทุนดังกล่าวจะช่วยสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันในอุตสาหกรรมโทรทัศน์ และช่วยให้อุตสาหกรรมโทรทัศน์ยังคงเป็นสื่อหลักที่เชื่อถือได้ของประชาชนทั่วประเทศอย่างไรก็ดี
ร่างหลักเกณฑ์เรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz มาตรการทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทน
กำหนดให้เรียกคืนคลื่นย่าน 694 – 790 MHz (ช่วง 703-738 MHz คู่กับ 758-793 MHz รวม 2 x 35 MHz) จากผู้ประกอบกิจการภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล เพื่อนำมาใช้สำหรับกิจการโทรคมนาคมหรือสำหรับเทคโนโลยี 5G โดยได้กำหนดการทดแทน ชดเชย หรือจ่ายค่าตอบแทนผู้ได้รับผลกระทบจากการเรียกคืนคลื่นความถี่ ซึ่งได้แก่
- ผู้ได้รับใบอนุญาตให้ใช้งานคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล
- ผู้รับใบอนุญาตให้บริการโครงข่าย
- ผู้รับใบอนุญาตให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล ผ่านกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ
กล่าวคือ
ผู้ได้รับใบอนุญาตให้ใช้งานคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล : ทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนเท่ากับมูลค่าเงินประมูล 1 งวดสุดท้ายของราคาขั้นต่ำ และ 2 งวดสุดท้ายของราคาที่เกินกว่าราคาขั้นต่ำ รวมถึงค่าเช่าบริการโครงข่ายเพื่อให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล (MUX) และ ค่าเช่าโครงข่ายตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป (Must Carry)
ผู้รับใบอนุญาตให้บริการโครงข่าย และผู้รับใบอนุญาตให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล : ทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนเท่ากับค่าใช้จ่ายจากการปรับปรุงหรือปรับเปลี่ยนอุปกรณ์โครงข่ายโทรทัศน์ หรือค่าผลกระทบโดยตรงที่ผู้ให้บริการโครงข่ายได้รับจากการปรับเปลี่ยนการให้บริการ
ร่างหลักเกณฑ์ให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 700 MHz
- ประมูลคลื่นความถี่ 7 ใบอนุญาต ใบละ 2 x 5 MHz อายุใบอนุญาต 20 ปี
- ใช้วิธีประมูลแบบหลายรอบ และราคาประมูลในแต่ละรอบจะเพิ่มขึ้นตามลำดับ
- ราคาขั้นต่ำเป็นไปตามหนังสือชี้ชวนตามที่คณะกรรมการประกาศ
- เสนอราคาเพิ่มไม่น้อยกว่าหนึ่งครั้งตามกฎการประมูล
- แต่ละรายให้ประมูลได้ไม่เกิน 3 ชุดคลื่นความถี่ หรือ ไม่เกิน 2 x 15 MHz
- ผู้ชนะผ่อนจ่าย 9 งวด งวดแรก 20% งวด 2 – 9 10%
- กรณีไม่ชำระเงินประมูลงวดที่สองและงวดอื่น ๆ ต้องชำระเงินเพิ่มจำนวนเท่ากับผลคูณของจำนวนเงินประมูลที่ค้างชำระกับอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี คำนวณเป็นรายวัน