ก้าวไกลยื่นร่าง พ.ร.บ.ภาพยนตร์ เข้าสภาฯ ตัดอำนาจการสั่งห้ามฉาย

พรรคก้าวไกลยื่นร่าง “พ.ร.บ.ภาพยนตร์” เข้าสภาฯ ปรับโครงสร้างคณะกรรมการภาพยนตร์ให้ยึดโยงกับคนทำหนัง ตัดอำนาจการสั่งห้ามฉาย ย้ำซอฟต์พาวเวอร์จะเกิดไม่ได้หากภาพยนตร์ยังไร้เสรีภาพ


วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ห้องแถลงข่าวรัฐสภา พรรคก้าวไกล นำโดย อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล สส.บัญชีรายชื่อ, สิริลภัส กองตระการ สส.กรุงเทพฯ, กรุณพล เทียนสุวรรณ สส.บัญชีรายชื่อ, เเละ นนท์ ไพศาลลิ้มเจริญกิจ สส.นนทบุรี ร่วมแถลงข่าวยื่นร่าง “พ.ร.บ.ภาพยนตร์” เข้าสู่สภาฯ

อภิสิทธิ์กล่าวว่า ที่ผ่านมาพรรคก้าวไกลได้จับตาสถานการณ์เสรีภาพในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยมาโดยตลอด ซึ่งมีหลายกรณีที่น่ากังวล เช่นกรณีการสั่งห้ามฉายภาพยนตร์เรื่อง “เชคสเปียร์ต้องตาย” ที่ทำให้ผู้สร้างภาพยนตร์ต้องใช้เวลานับ 10 ปีในการต่อสู้ฟ้องร้องในศาลปกครอง จนในท้ายที่สุดก็ชนะคดี นี่คือหนึ่งในอีกหลายกรณีที่สะท้อนภาพการจำกัดสิทธิในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ โดยสาเหตุหนึ่งเป็นเพราะ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 จำกัดสิทธิคนทำงานในอุตสาหกรรมฯ อย่างเข้มงวดหลายเรื่อง

ด้วยเหตุนี้ พรรคก้าวไกลจึงยื่นเสนอร่าง พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฉบับใหม่เพื่อให้สภาฯ พิจารณา โดยมีสาระสำคัญคือ การปรับโครงสร้างของคณะกรรมการภาพยนตร์ ซึ่งจากเดิมส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ เปลี่ยนเป็นให้คนที่ทำงานในอุตสาหกรรมภาพยนตร์มานั่งเป็นคณะกรรมการแทน นอกจากนี้ยังมีการลดอำนาจของคณะกรรมการฯ ในการสั่ง “ห้ามฉาย” ภาพยนตร์ รวมถึงการปรับรูปแบบการจัดระดับความเหมาะสม (เรตติ้ง) จากเดิมที่เรตสูงสุดคือการกำหนดผู้ชมอายุ 20 ปีขึ้นไป ปรับเป็นเรตสูงสุดคืออายุ 18 ปีขึ้นไป

อภิสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฉบับพรรคก้าวไกลยังมีการปรับรายละเอียดอื่น ๆ เช่น การลดบทบาทการควบคุมจากรัฐสำหรับกองถ่ายที่เข้ามาถ่ายทำในประเทศไทย จากเดิมต้องขอตรวจบทและตรวจรายละเอียดอย่างเข้มงวด เปลี่ยนเป็นเพียงแค่การยื่นจดแจ้งแทน ส่วนกรณีโรงภาพยนตร์ จากเดิมกำหนดว่าโรงภาพยนตร์ทุกประเภทต้องขอใบอนุญาตในการทำกิจการ พ.ร.บ.ฉบับนี้กำหนดให้โรงภาพยนตร์ขนาดเล็ก หรือโรงภาพยนตร์ชุมชนขนาดไม่เกิน 50 ที่นั่งใช้เพียงแค่การจดแจ้งเท่านั้น ไม่ต้องขออนุญาต

ด้าน สิริลภัส กล่าวว่า ถือเป็นสัญญาณที่ดีของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่มีร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เกิดขึ้น เนื่องจากตนได้มีโอกาสเข้าไปพูดคุยกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ทั้งสมาพันธ์ภาพยนตร์ ผู้กำกับ และนักแสดง ทุกคนต่างสะท้อนว่าต้องการสร้างสรรค์ผลงานในมิติและมุมมองที่หลากหลาย แต่หลาย ๆ ครั้งความคิดสร้างสรรค์ก็ถูกจำกัดไว้เพราะกลัวถูกเซ็นเซอร์จากคณะกรรมการภาพยนตร์ พ.ร.บ.ฉบับนี้จะเข้ามาแก้ไขโดยลดเพดานของการเซ็นเซอร์ลงมา ทำลายขีดจำกัดในการนำเสนอและสร้างสรรค์ผลงาน ซึ่งจะทำให้ภาพยนตร์ไทยมีความหลากหลายมากขึ้น

ขณะที่ กรุณพล กล่าวว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้จะช่วยส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ได้อย่างแท้จริง เพราะซอฟต์พาวเวอร์จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่ออุตสาหกรรมสร้างสรรค์มีเสรีภาพ แต่ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า ภาพยนตร์ไทยที่เกี่ยวข้องกับศาสนาหรือกระบวนการยุติธรรมมักจะไม่ได้รับอนุญาตให้ฉาย ซึ่งถือเป็นการลดทอนคุณค่าของงานสร้างสรรค์

“เราต้องเชื่อในวิจารณญาณของทุกคนในการตัดสินใจ และต้องเชื่อว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้จะทำให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ในประเทศไทยดีขึ้น รับรู้และเชื่อในอำนาจของประชาชนมากขึ้น” กรุณพล กล่าว