รองโฆษกก้าวไกล จี้ กสทช. ปกป้องผลประโยชน์ประชาชน หลังเตรียมชี้ชะตาควบรวม AIS-3BB

จับตาพรุ่งนี้! ประชุม กสทช. 10 พ.ย. ชี้ชะตาคำขอควบรวมเน็ตบ้าน AIS-3BB “รองโฆษกก้าวไกล” จี้ กสทช. ทำหน้าที่ของตัวเอง ปกป้องผลประโยชน์ประชาชน อย่าปล่อยให้เกิดการผูกขาดบทใหม่ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม


วันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 ภคมน หนุนอนันต์ รองโฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาคำขอควบรวมกิจการอินเทอร์เน็ตบ้าน ระหว่าง AIS และ 3BB ในวันพรุ่งนี้ (10 พฤศจิกายน 2566) ว่า การประชุมนัดนี้มีความสำคัญมากในการพิจารณาชี้ชะตาว่า คำขอควบรวมกิจการอินเทอร์เน็ตบ้านระหว่าง AIS และ 3BB จะทำได้หรือไม่

ภคมน ระบุต่อว่า จะเกิดอะไรขึ้นหาก กสทช. ปล่อยให้มีการควบรวมอินเตอร์เน็ตบ้าน ระหว่าง AIS และ 3BB ข้อแรก ตลาดอินเทอร์เน็ตบ้านที่ปัจจุบันมีผู้เล่น 4 ราย ได้แก่ True, 3BB, NT (TOT เดิม) และ AIS จะเหลือผู้เล่นเพียง 3 ราย โดย AIS+3BB จะกลายเป็นรายใหญ่สุด ข้อสอง รวมส่วนแบ่งตลาด AIS (หลังควบรวม) และ True จะคิดเป็นประมาณ 80% หรือพูดง่ายๆ ตลาดอินเตอร์เน็ตบ้านจะกลายเป็นถูกกินรวบโดย 2 เจ้าใหญ่ เหมือนกับตลาดค่ายมือถือ และข้อสาม บทเรียนจากการอนุมัติให้มีการควบรวมค่ายมือถือระหว่าง True-DTAC แสดงให้เราเห็นแล้วว่ายิ่งปล่อยให้เศรษฐกิจมีการผูกขาดอย่างเสรีเท่าไร ราคาที่ประชาชนต้องใช้บริการยิ่งแพงขึ้น สวนทางกับคุณภาพการให้บริการที่ลดต่ำลง

รองโฆษกพรรคก้าวไกลระบุว่า ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ขอเรียกร้องให้ กสทช. ทำตามหน้าที่ของตนเองในการปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน กสทช. มีอำนาจเต็มในการพิจารณา “ไม่เห็นชอบ” ให้มีการควบรวมครั้งนี้ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 มาตรา 27 ข้อ 6 ระบุว่า กสทช. ต้องกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับบริการที่ดี รวดเร็ว ถูกต้อง และเป็นธรรม และข้อ 11 ระบุว่าจะต้องกำหนดมาตรการเพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาด หรือก่อความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน

การประเมินผลกระทบจากการซื้อกิจการเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนสูง เพราะเป็นธุรกิจประเภทโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องการเม็ดเงินลงทุนสูง มีลักษณะการผูกขาดตามธรรมชาติ และยังมีความซับซ้อนจากปัจจัยด้านเทคโนโลยี จึงอาจมีประเด็นหลากหลายให้ กสทช. ต้องพิจารณาถ่วงน้ำหนัก แต่ กสทช. ต้องพึงระลึกว่าการตัดสินใจนั้น ควรคำนึงถึงผู้บริโภคเป็นหลักตามหน้าที่ของตน

“อย่าปล่อยให้ซ้ำรอยกับกรณีการควบรวม True-DTAC เลย ที่สุดท้ายเงื่อนไขที่ว่าจะลดค่าบริการ-เพิ่มคุณภาพให้ประชาชน ยังทำไม่ได้สักเรื่อง” ภคมน กล่าว