8 พรรคลงนาม MOU ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล รับ 9 ปี รัฐประหาร 57

ประวัติศาสตร์การเมืองไทยหน้าใหม่! 8 พรรคลงนามความเข้าใจร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล ชู 23 วาระเปลี่ยนประเทศ ร่างรัฐธรรมนูญใหม่-สมรสเท่าเทียม-ยกเลิกเกณฑ์ทหาร เห็นพ้องแนวปฏิบัติคุ้มครองสิทธิทางการเมืองของประชาชน พบใครทุจริตยุติดำรงตำแหน่งทันที


วันที่ 22 พฤษภาคม 2566 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย, วันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ, สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย, พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย, วสวรรธน์ พวงพรศรี หัวหน้าพรรคเพื่อไทรวมพลัง, ปิติพงศ์ เต็มเจริญ หัวหน้าพรรคเป็นธรรม, และ เชาวฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ หัวหน้าพรรคพลังสังคมใหม่ ร่วมแถลงการลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU) ในการจัดตั้งรัฐบาล ที่โรงแรมคอนราด กรุงเทพฯ

พิธา กล่าวว่า วันที่ 22 พฤษภาคม มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์การเมืองไทย นอกจากเป็นวันครบรอบรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 วันนี้ยังเป็นวันที่เราลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกันในการจัดตั้งรัฐบาล เป็นหมุดหมายของความสำเร็จร่วมกันของสังคมไทย ที่เราสามารถเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยโดยสันติผ่านระบบรัฐสภาได้

หัวหน้าพรรคก้าวไกลกล่าวต่อว่า จุดประสงค์ของการจัดทำบันทึกความเข้าใจร่วมกันในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ เป็นการรวบรวม ‘วาระร่วม’ ที่ทุกพรรคเห็นตรงกัน และพร้อมผลักดันผ่านกลไกของรัฐบาลและรัฐสภา ขณะเดียวกัน ถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลเพื่อเสนอต่อประชาชนทั้งประเทศ

โดยทำขึ้นเพื่อสร้างพื้นฐานในการจัดตั้งรัฐบาลและทำงานร่วมกันระหว่างพรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคเพื่อไทรวมพลัง พรรคเป็นธรรม และพรรคพลังสังคมใหม่ ทุกพรรคเห็นร่วมกันว่าภารกิจของรัฐบาลที่ทุกพรรคจะผลักดันนั้น ต้องไม่กระทบต่อรูปแบบของรัฐ การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ขององค์พระมหากษัตริย์ ประกอบไปด้วยวาระร่วมดังต่อไปนี้

  1. ฟื้นฟูประชาธิปไตย รวมถึงการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับของประชาชนให้เร็วที่สุด โดยมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน
  2. ยืนยันและผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม เพื่อรับประกันสิทธิสมรสสำหรับคู่รักทุกเพศ โดยจะไม่บังคับประชาชนที่เห็นว่าขัดแย้งกับหลักการของศาสนาที่ตนเองนับถือ
  3. ผลักดันการปฏิรูประบบราชการ ตำรวจ กองทัพ และกระบวนการยุติธรรม ให้สอดคล้องกับหลัก ประชาธิปไตย โดยยึดหลักความโปร่งใส ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และผลประโยชน์สูงสุดของประชาชน
  4. เปลี่ยนการเกณฑ์ทหารแบบบังคับ เป็นระบบสมัครใจ ทั้งนี้ยังคงไว้ซึ่งการเกณฑ์ทหารยามศึกสงคราม
  5. ร่วมผลักดันกระบวนการสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยคำนึงถึงหลักการด้านสิทธิมนุษยชน การอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน รวมถึงทบทวนภารกิจของหน่วยงานและการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคง
  6. ผลักดันการกระจายอำนาจทั้งในแง่ภารกิจและงบประมาณ เพื่อให้ท้องถิ่นตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ ปราศจากการทุจริต
  7. แก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันโดยการสร้างระบบและวัฒนธรรมรัฐโปร่งใส เปิดเผยข้อมูลรัฐในทุกหน่วยงาน
  8. ร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยยึดหลักเพิ่มรายได้ประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างระบบเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างเป็นธรรม
  9. ยกเครื่องกฎหมายเกี่ยวกับการทำมาหากิน และการดำรงชีวิตของประชาชน เช่น ตัด ลด หรือพักใช้ชั่วคราวซึ่งการอนุมัติ อนุญาตที่ไม่จำเป็นและเป็นอุปสรรคเพื่อปรับปรุงใหม่ ให้ความช่วยเหลือสภาพคล่องทางด้านการเงินและสร้างแต้มต่อให้กับ SME พร้อมกับมุ่งเน้นการเติบโต GDP ของ SME สนับสนุนอุตสาหกรรม และสินค้าไทยให้มีความเข้มแข็ง สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้
  10. ยกเลิกการผูกขาดและส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรมในทุกอุตสาหกรรม เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (โดยพรรคประชาชาติขอสงวนสิทธิในการไม่เห็นด้วยเฉพาะอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยเหตุผลด้านศาสนา)
  11. ปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ ด้วยการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม แก้ปัญหาแนวเขตป่าไม้และที่ดินของรัฐที่ทับซ้อนกับที่ดินของประชาชน รวมถึงการทบทวนคดีที่เป็นผลจากนโยบายทวงคืนผืนป่า
  12. ปรับปรุงโครงสร้างการผลิตไฟฟ้า การคำนวณราคา และกำลังการผลิตที่เหมาะสม เพื่อลดค่าครองชีพประชาชนและสร้างความมั่นคงทางพลังงาน
  13. จัดทำงบประมาณแบบใหม่ โดยเน้นใช้วิธีการจัดงบประมาณฐานศูนย์ (zero-based budgeting)
  14. สร้างระบบสวัสดิการดูแลประชาชนตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงผู้สูงวัย โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและภาระทางการคลังระยะยาว
  15. แก้ไขปัญหายาเสพติดโดยเร่งด่วน
  16. นำกัญชากลับไปอยู่ในบัญชียาเสพติดให้โทษผ่านการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข โดยมีกฎหมายควบคุมและรองรับการใช้ประโยชน์จากกัญชา
  17. ส่งเสริมเกษตรและปศุสัตว์ปลอดภัย ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มการเข้าถึงตลาด เทคโนโลยี และแหล่งน้ำ สร้างความเข้มแข็งของกลุ่มเกษตรกรเพื่อวางแผนการผลิตและรักษาผลประโยชน์เกษตรกร ส่งเสริมอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเพื่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ
  18. แก้ไขกฎหมายประมง ขจัดอุปสรรค เยียวยา ฟื้นฟู และพัฒนาอาชีพประมงให้ยั่งยืน
  19. ยกระดับสิทธิแรงงานทุกอาชีพให้มีสภาพการจ้างงานที่เป็นธรรม และได้รับค่าแรงที่เป็นธรรมสอดคล้องกับค่าครองชีพและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
  20. ยกระดับระบบสาธารณสุขเพื่อทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพทั้งการส่งเสริม การป้องกัน การรักษา และการฟื้นฟูสุขภาพ
  21. ปฏิรูประบบการศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต
  22. สร้างความร่วมมือและกลไกภายในและระหว่างประเทศ เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นพิษ รวมถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ (Net Zero) โดยเร็วที่สุด
  23. ดำเนินการนโยบายการต่างประเทศ โดยการฟื้นฟูบทบาทผู้นำของไทยในอาเซียนและเวทีระหว่างประเทศ ตามกรอบความร่วมมือต่างๆ โดยเฉพาะกรอบความร่วมมือพหุภาคี รวมถึงรักษาสมดุลการเมืองระหว่างประเทศของไทยกับประเทศมหาอำนาจ
  24. ทุกพรรคจะคุ้มครองสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของประชาชนทุกคน
  25. ทุกพรรคจะทำงานโดยซื่อสัตย์สุจริต หากมีบุคคลของพรรคใดมีพฤติกรรมทุจริต คอร์รัปชัน ทุกพรรคจะยุติการดำรงตำแหน่งของบุคคลนั้นๆ ทันที
  26. ทุกพรรคจะทำงานโดยให้เกียรติซึ่งกันและกัน จริงใจต่อกัน สนับสนุนการทำงานซึ่งกันและกัน โดยยึดถือผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง มากกว่าผลประโยชน์ของพรรคใดพรรคหนึ่ง
  27. ทุกพรรคมีสิทธิในการผลักดันนโยบายอื่นเพิ่มเติม แต่ไม่ขัดแย้งจากนโยบายในบันทึกความเข้าใจร่วมกันในการจัดตั้งรัฐบาลฉบับนี้ โดยอาศัยอำนาจฝ่ายบริหารของรัฐมนตรีที่เป็นตัวแทนของแต่ละพรรคการเมือง
  28. ทุกพรรคมีสิทธิในการผลักดันนโยบายอื่นเพิ่มเติมแต่ไม่ขัดแย้งจากนโยบายในบันทึกความเข้าใจร่วมกันในการจัดตั้งรัฐบาลฉบับนี้ โดยอาศัยอำนาจนิติบัญญัติของผู้แทนราษฎรที่สังกัดแต่ละพรรคการเมือง

เมื่อพิธาอ่านเนื้อหาในบันทึกความเข้าใจร่วมกันในการจัดตั้งรัฐบาลจบลง ได้ลงนามในบันทึกดังกล่าว ก่อนส่งเอกสารให้หัวหน้าพรรคการเมืองอีก 7 พรรคลงนาม จากนั้นเปิดให้สื่อมวลชนถามคำถาม

นำกัญชากลับไปอยู่บัญชียาเสพติด หยุดสภาพสุญญากาศ

ผู้สื่อข่าวถามถึงผลของบันทึกฯ ฉบับนี้ จะกระทบต่อธุรกิจร้านขายกัญชาที่เปิดเป็นการทั่วไปในปัจจุบันหรือไม่ พิธากล่าวว่า ปัญหาของเรื่องกัญชาที่ผ่านมา คือการไม่มีสภาพบังคับ เพราะกัญชาถูกปลดออกจากบัญชียาเสพติด แต่ไม่มีกฎหมายรองรับ ทำให้เกิดสุญญากาศ เมื่อบันทึกฯ ฉบับนี้ระบุไว้ชัดเจนว่านำกัญชากลับไปอยู่ในบัญชียาเสพติดให้โทษผ่านการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข นั่นหมายความว่าจะมีกฎหมายควบคุมและรองรับการใช้ประโยชน์จากกัญชา ใครที่ทำถูกต้องตามกฎหมายมาตลอด จึงไม่ต้องกังวล

ยืนยันก้าวไกลยื่นแก้ 112 ในสภาฯ ไม่กระทบเจรจา ส.ว. โหวตนายกฯ

เมื่อถามว่า การที่พรรคก้าวไกลยืนยันจะใช้สภาฯ ในการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จะมีผลต่อเสียงของ ส.ว. ในการยกมือโหวตนายกฯ หรือไม่ พิธากล่าวว่า ไม่คิดว่าเป็นเช่นนั้น เพราะพรรคก้าวไกลมีทีมเจรจา ที่ผ่านมามีโอกาสได้ตอบเพื่อคลายข้อกังวลใจของ ส.ว. หลายเรื่องถึงเจตจำนงและเนื้อหาของกฎหมายที่ตั้งใจให้ ม.112 ไม่กลายเป็นเครื่องมือในการโจมตีกลั่นแกล้งกันทางการเมือง เชื่อว่าเมื่อได้รับคำอธิบายระหว่างเนื้อหาในร่างกฎหมายที่เรายื่นไปแล้ว เปรียบเทียบกับมาตรฐานสากล และบันทึกความเข้าใจร่วมกันในการจัดตั้งรัฐบาลฉบับนี้ ที่ระบุชัดเจนว่า ‘ภารกิจของรัฐบาลที่ทุกพรรคจะผลักดันนั้น ต้องไม่กระทบต่อรูปแบบของรัฐ การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ขององค์พระมหากษัตริย์’ น่าจะทำให้ ส.ว. และพี่น้องประชาชนจำนวนมาก สบายใจมากขึ้น

“ยืนยันอีกครั้งว่า ม.112 เป็นหนึ่งใน 45 ร่างกฎหมายที่พรรคก้าวไกลได้เตรียมยื่นเข้าสู่สภาฯ เพื่อให้เกิดบทสนทนาอย่างมีวุฒิภาวะในสภาฯ ที่ผ่านมาบางครั้งอาจมีการฟังข้อมูลที่ไม่ตรงความเป็นจริง เมื่อมีโอกาสได้พูดคุยกัน จึงเป็นไปในแนวโน้มที่ดีมาก” พิธากล่าว

ทุกพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล หนักแน่น-ให้เกียรติกันและกัน

ส่วนกรณีมีการวิเคราะห์ทางการเมืองว่า ส.ส. ของพรรคพลังประชารัฐ จะมารวมกันกับพรรคเพื่อไทย ทำให้พรรคเพื่อไทยมีเสียงเพิ่มเป็น 182 เสียง และจะเป็นเสียงข้างมากในสภาฯ พิธากล่าวว่า “ขอพูดในฐานะผู้นำการจัดตั้งรัฐบาล เราทำงานด้วยกันมา 4 ปี และจากที่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลมา 1 สัปดาห์ ยืนยันว่าทุกพรรคที่มาร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล มีความหนักแน่น ทำงานด้วยความเคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกัน จึงไม่มีความกังวลแต่อย่างใด”

ด้าน นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้ยินเรื่องนี้จากการวิเคราะห์ข่าวเช่นกัน ยืนยันพรรคเพื่อไทยไม่เคยรับรู้รับทราบ และขอปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ไม่ว่าเหตุการณ์จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ความเป็นไปได้ที่พรรคเพื่อไทยจะรวมกับพรรคพลังประชารัฐหลังการยุบพรรคนั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ส่วนที่บอกว่าพรรคเพื่อไทยจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ตนยืนยันอีกครั้งว่าเรายังยึดมั่นตามเจตนารมณ์ที่ประกาศสนับสนุนพิธาให้เป็นนายกฯ คนที่ 30 และร่วมมือกับพรรคก้าวไกลในการจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ ไม่ว่าจะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นก็ตาม