โอกาสและความท้าทายของสื่อมวลชนยุคดิจิทัลก้าวกระโดด

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 8 สิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ร่วมกับ Center for Humanitarian Dialogue โครงการ Media Fun Facts และกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดเวที Media Forum ครั้งที่ 1 “สื่อมวลชนยุคดิจิทัลก้าวกระโดด : โอกาสและความท้าทาย (Journalism & Digital Disruption : Prospects & Pitfalls) ณ Nexdots (Co-Working Space) ชั้น 2 I’m Park สามย่าน จุฬาฯ ซอย 9

การสนทนาเริ่มต้นด้วยการเกริ่นนำเข้าสู่ประเด็น โดย ศ.ดร. กาญจนา กาญจนสุต ผู้อำนวยการ Internet Education and Research Laboratory สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย สนทนาผ่าน Skype จากประเทศนิวซีแลนด์ โดยกล่าวถึงการพัฒนาอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ซึ่งระบุถึงการเข้ามาของเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดดของสังคมไทย จนทำให้สังคมไทยปรับตัวไม่ทัน กระทั่งปัจจุบัน เรากำลังประสบกับปัญหา Fake News อย่างหนัก เนื่องจากผู้บริโภคสื่อออนไลน์หลงเชื่อข่าวหลอกลวง และขาดการตรวจสอบ ทำให้ต้องอาศัยสื่อเดิมอย่างหนังสือพิมพ์ในการตรวจสอบข้อมูล

อย่างไรก็ตาม ได้ฝากถึงคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ว่า วันนี้เทคโนโลยีเปลี่ยนไปมาก กสทช. ควรปรับตัวแก้ไขกฎเกณฑ์ในหลายๆ เรื่องที่ล้าสมัย โดยเฉพาะในขั้นตอนการให้ไลเซนส์ เพื่อให้ทันต่อเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน ไม่ตกเป็นเหยื่อของสื่อออนไลน์ (Social Network)

จากนั้น นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ซึ่งทำหน้าที่นำประเด็นการสนทนา ได้เปิดเวทีให้ผู้เข้าร่วมงานได้แสดงความคิดเห็นในเรื่องการนำเสนอข้อมูลข่าวสารผ่านทางแพลตฟอร์มต่างๆ ทั้งสื่อดั้งเดิม ที่เป็นสื่อหนังสือพิมพ์ ซึ่งพยายามปรับตัวสู่ออนไลน์ แต่ก็ต้องพบกับปัญหา

ทั้งนี้ในการปรับตัวของสื่อหนังสือพิมพ์ โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ภูมิภาคนั้น นายภูวสิษฏ์ สุขใส รองเลขาธิการ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เปิดเผยว่า ทางสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ได้ตั้งคณะอนุกรรมการฝ่ายส่งเสริมและพัฒนากิจการสื่อ ขึ้นมาเพื่อหาแนวทางช่วยเหลือสื่อที่ประสบปัญหาการดำเนินกิจการหลังการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์สื่อ

ขณะที่สื่อออนไลน์ที่เข้าร่วมวงสนทนาได้แสดงความเห็นว่า เทคโนโลยีไม่ได้เข้ามาเพื่อ Disruption แต่เข้ามาเพื่อให้สามารถตรวจสอบความจริงของข้อมูล และเปลี่ยนแพลตฟอร์มการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อจากเดิมที่เป็น One – way Communication เป็น Two – way Communication เพื่อให้บุคคลภายนอกสามารถแสดงความเห็นได้ นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มมูลค่าของสื่ออีกด้วย

นอกจากนี้ นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ยังได้สรุปประเด็นข้อเสนอแนะจากช่วงระดมความคิด จากการเสวนา Media Forum ครั้งที่ 1 ไว้ใน Facebook ส่วนตัวดังนี้

1. การกำกับดูแลสื่อ : ควรเน้นการยกระดับของการกำกับดูแลโดยสังคมในมุมของสิทธิของผู้บริโภค โดยใช้มาตรการเช่น Social Sanction ทางสภาการหนังสือพิมพ์ควรทำหน้าที่เสริมองค์ความรู้และสร้างความตระหนักในด้านการคุ้มครองสิทธิและความเป็นส่วนตัว การละเมิดลิขสิทธิ์ รวมทั้งป้องกันไม่ให้สื่อถูกใช้ในด้านการปลุกเร้าให้เกิดความรุนแรงในสังคม

2. รูปแบบธุรกิจ (Business Model) : ควรมีการพัฒนาทางเลือกสำหรับการทำธุรกิจสื่อที่เหมาะกับการเปลี่ยนแปลง สามารถใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมทางเทคโนโลยีในการเพิ่มศักยภาพ ทั้งทางคุณภาพและรายได้ อาจจัดเป็น workshop ในเรื่องนี้โดยเฉพาะ

3. มาตรฐานจริยธรรมของผู้ผลิตเนื้อหาใน Social Media มีความต่างจากของสื่อมวลชนอาชีพที่มีมาตรฐานจริยธรรมและการกำกับดูแล : อาจทำกิจกรรมเสวนา แลกเปลี่ยนมุมมองกับผู้ผลิตสื่อเหล่านั้น

4. การแลกเปลี่ยนกับตัวแทนบรรษัท Social Media ข้ามชาติ : ควรหาช่องทางในการสื่อสาร พูดคุยกับบรรษัทเหล่านี้เพื่อทำความเข้าใจเรื่องเกณฑ์ด้านธรรมาภิบาลและมาตรการเฝ้าระวังการใช้ที่บิดเบือน เช่น ระบบการแจ้งเตือน การลบเนื้อหาโดยอิงมาตรฐานชุมชนของ FB (Community Standards), ระบบการจัดการข้อมูล (Algorithym) ที่คัดเลือกการแสดงเนื้อหาให้ผู้ใช้ได้รับสารเฉพาะด้านที่สนใจเป็นหลักเพื่อการพาณิชย์, การนำรายได้จากการโฆษณากลับคืนสู่สังคม และการฝึกอบรมให้ใช้เครื่องมือของบรรษัท social media ได้อย่างเต็มศักยภาพในการยกระดับคุณภาพและรายได้

5. การสร้างอำนาจต่อรองของสื่อมวลชนไทยกับบรรษัท Social Media ข้ามชาติ : ควรเกิดขึ้นผ่านการเจรจาต่อรองในหลายมิติ เป็นกระบวนการที่ภาคส่วนต่างๆ ร่วมดำเนินการ เช่น การสนับสนุนให้มีเวทีแลกเปลี่ยนและการเสริมองค์ความรู้-ทรัพยากรในการปรับตัวโดยกระทรวง DE, กสทช. และองค์กรทางวิชาชีพสื่อ รวมทั้งการสร้างกลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคม เช่น Digital Watch Group และส่วเสริมการรู้เท่าทันสื่อของผุ้ใช้อินเทอร์​เน็ต​ให้มากขึ้น

6. กลไกทางนโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยี : ควรหาฐานคิดที่เป็นหลักการที่ยึดถือผลประโยชน์ของสังคม เช่น การคุ้มครองสิทธิและความปลอดภัยของผู้บริโภคสื่อ ไม่ใช่เพียงการมองด้านความมั่นคงของรัฐในแบบดั้งเดิม หรือเสถียรภาพของรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง หลักการนั้นจะเป็นฐานคิดเชิงนโยบายและกฎหมายที่จำเป็นต้องมีความยืดหยุ่น เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีด้วย

7. เพดานค่าจ้าง-ค่าตอบแทนของผู้รับจ้างผลิตสื่อที่ควรเพิ่มมากขึ้น เพราะต้องอาศัยคนที่มีทักษะและความสามารถที่รอบด้านครบวงจร ตั้งแต่การเขียนเนื้อหา สัมภาษณ์ บันทึกภาพนิ่งและเคลื่อนไหว รวมทั้งเผยแพร่ทุกช่องทาง เป็นต้น

ข้อมูลจาก สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และ Facebook: Supinya Klangnarong

Just ordinary guy who interested about current affairs, new media and technology. Now I'm Creative Content Creator and Co-founder of 'Yarmfaojor' (ยามเฝ้าจอ), Thailand TV Monitor by new generation.