‘เท่าพิภพ’ ชี้ ควรใช้สภาแก้ปัญหา ม.32 “ห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์”

‘เท่าพิภพ’ ส.ส. กทม. พรรคก้าวไกล ชี้ ควรใช้สภาเป็นทางออกในการแก้ปัญหา มาตรา 32 ของ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ “ห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์”


วันนี้ (21 มีนาคม 2565) เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส. กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้ผลักดัน พ.ร.บ. สุราก้าวหน้า ระบุว่า ขณะนี้กำลังมีประเด็นร้อนที่เป็นข้อถกเถียงกันในสังคมเกี่ยวกับการโฆษณาเครื่องดื่มเเอลกอฮอล์ ที่มีการระบุข้อห้ามไว้ใน พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มาตรา 32 ซึ่งมาตราดังกล่าวมีใจความดังนี้

มาตรา 32 ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือทางอ้อม

การโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ใดๆ โดยผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภทให้กระทำได้เฉพาะการให้ข้อมูลข่าวสารและความรู้เชิงสร้างสรรค์สังคม โดยไม่มีการปรากฏภาพของสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น เว้นแต่เป็นการปรากฏของภาพสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสัญลักษณ์ของบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นเท่านั้น ทั้งนี้ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

บทบัญญัติในวรรคหนึ่งและวรรคสอง มิให้ใช้บังคับกับการโฆษณาที่มีต้นกําเนิดนอกราชอาณาจักร

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เมื่อนำไปสู่การบังคับใช้จริง เรายังเห็นความลักลั่นและผลกระทบต่อประชาชนในหลายเรื่องที่ต้องแก้ไขให้เหมาะสมขึ้น

“เรื่องหนึ่งที่สร้างความสงสัยมาก คือค่าปรับที่สูงจนกลายเป็นอุปสรรคของผู้ผลิตสุรารายย่อยหรือผู้ผลิตหน้าใหม่ที่ต้องการนำวัตถุดิบมาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ หรือมองว่าเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจของท้องถิ่นหรือผู้ที่ชื่นชอบอยากพัฒนาวงการนี้ แต่เมื่อทำแล้วกลับไม่สามารถประชาสัมพันธ์หรือกระทั่งให้ข้อมูลสุราหรือเบียร์ที่ทำขึ้นได้ เพราะการโดนปรับแต่ละครั้งคือต้นทุนราคาแพง ต่างจากรายใหญ่ที่การปรับเป็นเพียงส่วนหนึ่งของงบโฆษณาเท่านั้น” เท่าพิภพ กล่าว

เท่าพิภพ ระบุต่อไปว่า ตัวค่าปรับเอง ยังสะท้อนแง่มุมของกฎหมายที่มีปัญหา เพราะเมื่อเจ้าหน้าที่บอกว่าทำงานได้ดี เข้มงวด บางหน่วยเก็บค่าปรับได้เป็นล้านต่อเดือน แต่พอมีการถามถึงรางวัลนำจับจากค่าปรับไปอยู่ตรงไหน ใครได้บ้าง สามารถแสดงรายละเอียดที่มาที่ไปได้หรือไม่ ก็ไม่ใครสามารถให้ความชัดเจนได้ ทั้งที่คนจ่ายคือจ่ายจริง เจ็บจริง โดยเฉพาะรายเล็กที่โดนค่าปรับ 50,000 – 500,000 บาท ถือว่าเป็นเงินก้อนใหญ่ ขณะที่ค่าปรับคดีเมาแล้วขับซึ่งผลกระทบอสจถึงแก่ชีวิตได้ กลับปรับแค่ 20,000 บาทเท่านั้น

แต่หากคิดอีกด้านหนึ่ง หากปฏิเสธ โดยบอกว่าเก็บปรับได้นิดเดียว เน้นตักเตือน คำถามก็จะย้อนกลับมาว่า กฎหมายนี้ได้ผลสัมฤทธิ์จริงหรือไม่ หรือสามารถคุยได้ ดีลได้ สังเกตว่าอะไรที่เป็นเรื่องดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ มักจะนำไปสู่การเติบโตของธุรกิจสีเทา หรือเอื้อต่อกลุ่มทุนผูกขาดเสมอ

“ผู้ที่มีบทบาทผลักดันกฎหมายนี้มักพูดดูเหมือนดีว่าไม่อยากให้รายใหญ่เอาเปรียบรายเล็ก จึงควรไม่อนุญาตให้ใครได้โฆษณาเลยเพื่อความเสมอภาค แต่ถ้าลืมตาดูความจริงจะเห็นชัดว่าไม่เป็นเช่นนั้น มีแต่รายเล็กค่อยๆตายไป รายใหญ่มีพลังในการผูกขาดตลาดโดยสมบูรณ์มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะรายเล็กจะไม่สามารถเข้าสู่ตลาดได้เลย” เท่าพิภพ กล่าว

เท่าพิภพ ย้ำว่า หากผู้ที่เคยผลักดันกฎหมายนี้เป็นห่วงเรื่องรายใหญ่จะเอาเปรียบรายเล็กจริง ในฐานะที่ตนเป็นผู้แทนราษฎรที่เกาะติดประเด็นนี้โดยตรงเเละเฝ้าดูการถกเถียงเรื่องนี้ ตนไม่คัดค้านเจตนารมณ์ที่ดีในการลดปัจจัยคุกคามสุขภาพของประชาชนจากการดื่มสุรา และมองเห็นว่าการมีกลไกกำกับดูแลยังเป็นเรื่องที่จำเป็น และตนเข้าใจความต้องการของทั้งสองฝ่าย ทั้งที่ต้องการให้ผ่อนคลายหรือยกเลิกมาตรานี้ และฝ่ายที่ต้องการให้กฎหมายเข้มงวดขึ้นอีก ซึ่งมีการยื่นแก้ไขร่างกฎหมายสู่สภาทั้งสองฝ่าย

“ฝ่ายเเรกอยากจะปลดล็อกให้โฆษณาหรือโพสต์ลงโซเชี่ยลได้เพราะเป็นเรื่องของเสรีภาพส่วนบุคคล เเละเป็นการช่วยรายย่อยที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ลืมตาอ้าปากได้ ส่วนฝ่ายที่อยากให้เข้มขึ้น มองว่ารายใหญ่ใช้ช่องว่างในการไปทำน้ำดื่ม น้ำโซดา แล้วใช้โลโก้เสมือนเป็นการโฆษณาทางอ้อม อันจะเป็นการทำให้เยาวชนคุ้นชินเเล้วเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น

“ทางที่จะเเก้กฎหมายให้สมประโยชน์ทั้งสองฝั่งได้ ผมคิดว่าต้องนำภาพรวมมาดูกันทั้งหมด เพราะจะเห็นว่าเรายังมีมาตรการมากมายที่สามารถลดการเข้าถึงโฆษณาเเอลกอฮอล์ได้ เช่น การจำกัดทุนโฆษณาที่เท่ากันทุกเจ้า การจำกัดอายุการเข้าถึงของสื่อโฆษณา เช่น เว็บไซต์กำหนดอายุ หรือโฆษณาในสถานที่ 20 ปีขึ้นไป อย่างในร้านเหล้าก็คงดูตลกไม่น้อย เพราะเราขายเหล้าได้เเต่กลับโฆษณาเหล้าในร้านเหล้าไม่ได้ เช่นนี้ก็จะทำให้การขึ้นป้ายบิลบอร์ดทำไม่ได้เช่นกัน วิธีเหล่านี้คือ Partial Ban ที่หลายประเทศก็ทำกัน อย่างไรก็ตาม สุดท้ายผมเชื่อว่าสภาจะเป็นเวทีกลางที่จะเอาความเห็นของทุกฝ่ายมาพูดคุยหาทางออกร่วมกันได้ ซึ่งพรรคก้าวไกลเราก็พร้อมเป็นสติเเละเเสงของทางออกในเรื่องนี้”

เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร กล่าวทิ้งท้าย

Just ordinary guy who interested about current affairs, new media and technology. Now I'm Creative Content Creator and Co-founder of 'Yarmfaojor' (ยามเฝ้าจอ), Thailand TV Monitor by new generation.