ผู้สื่อข่าวอาวุโสของข่าวสดอิงลิช “ประวิตร โรจนพฤกษ์ ” ส่งสัญญาณถึงผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ ยอมรับแม้แต่ละคนก็ยังมีมุมมองที่ต่างกันต่อกฎหมายหมิ่้นพระบรมเดชานุภาพ หรือประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แต่ถึงเวลาแล้วที่ต้องตั้งคำถามถึงความเหมาะสมของกฎหมายดังกล่าว ชี้หากสื่อไม่เรียกร้องให้มีการปฎิรูปกฎหมายนี้ “จะถูกประวัติศาสตร์พิพากษาว่าพวกเราละเลยในพันธะแห่งวิชาชีพ”
เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2564 นายประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสของ Khaosod English (ข่าวสดอิงลิช) เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกฉบับหนึ่งขึ้นมาในหัวข้อ ” ถึงเวลาที่ต้องพูดเรื่อง ม.112 แล้ว” เพื่อสื่อสารถึงสื่อมวลชนที่ทำหน้าที่อยู่ในเวลานี้ โดยเผยแพร่จดหมายเวอร์ชันภาษาไทยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ในเวลา 14.08 น. และเผยแพร่จดหมายเวอร์ชันภาษาอังกฤษลงบนเว็บไซต์ Khaosod English ในเวลา 13.05 น. โดยเนื้อหาทั้งหมดมีดังนี้
จดหมายเปิดผนึกถึงผู้ร่วมวิชาชีพสื่อ: ถึงเวลาที่ต้องพูดเรื่อง ม.112 แล้ว
เป็นเวลากว่าหนึ่งปีแล้วที่ขบวนการเรียกร้องการปฎิรูปสถาบันกษัตริย์ได้ก่อตัวขึ้น และนำไปสู่การชุมนุมบนทัองถนน
หนึ่งปีผ่านไป แกนนำและผู้เข้าร่วมกว่า 140 ชีวิต ต้องเผชิญกับข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งโทษทางอาญาสูงสุดคือจำคุก 15 ปี ณ เวลาที่ผมเขียนจดหมายนี้ มีแกนนำและคนอื่นติดคุกอย่างน้อย 6 คน รวมถึง เพนกวิน ไผ่ดาวดิน และอานนท์ นำภา ที่ติดโดยถูกปฎิเสธประกันเกือบ 80 วันแล้ว
สื่อไทยหากไม่ปฎิเสธความจริงก็คงตระหนักดีว่า ม.112 เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเสนอข่าวอย่างรอบด้าน เท่าทันต่อสถาบันกษัตริย์ และทำให้สื่อมิสามารถตรวจสอบวิพากษ์สถาบันกษัตริย์ได้เหมือนในนานาอารยประเทศอย่างสหราชอาณาจักรและญี่ปุ่น
มีแต่นักข่าวและบรรณาธิการที่เป็นโรคปฎิเสธความจริงเรื้อรังเท่านั้นที่จะกล้าพูดได้ว่า ม.112 ไม่มีผลอันใดต่อการปฎิบัติหน้าที่สื่อในไทย
การเซนเซอร์ข่าวสารและข้อมูลเชิงเท่าทันต่อสถาบันกษัตริย์เกิดขึ้นประจำ กลายเป็นเรื่องปกติปฎิบัติของสื่อไทย ทำให้เกิดการรับรู้เกี่ยวกับสถาบันฯ อย่างไม่รอบด้าน บิดเบี้ยว
นักข่าวอยู่ในบรรยากาศแห่งความกลัว หรือไม่ก็เซนเซอร์ตนเองเพื่อเอาตัวรอด แล้วไปซุบซิบนินทาเรื่องเจ้าลับหลัง ในขณะที่คนรุ่นใหม่คนแล้วคนเล่าถูกจับเข้าคุก เพียงเพราะพวกเขาต้องการแสดงออกอย่างเท่าทัน และวิพากษ์สถาบันฯ อย่างที่พลเมืองในนานาอารยประเทศพึงมีสิทธิ และพึงเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน
สื่อพึงตระหนักว่าอาชีพสื่อสารมวลชนของเรานั้น ไม่ว่าโดยปัจเจกของตัวนักข่าวและบรรณาธิการเอง หรือขององค์กรสื่อและสมาคมนักข่าวต่าง ๆ ย่อมมาพร้อมกับความรับผิดชอบและพันธะต่อสังคมที่จะสื่อข้อเท็จจริงสู่สาธารณะให้รอบด้านมากที่สุดเท่าที่พึงจะกระทำได้
ในสถานการณ์เช่นนี้ ผู้มีวิชาชีพสื่อ องค์กรสื่อ และสมาคมนักข่าวต่างๆ อาจทำตัวเงียบต่อไป ทำตัวเป็นทองไม่รู้ร้อน หรืออาจประกาศต่อสาธารณะว่า ถึงเวลาแล้ว ที่เราต้องพูดคุยเรื่องปัญหาของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ที่ทำให้การปฎิบัติหน้าที่ของสื่อไทยต้องบิดเบี้ยว ปราศจากซึ่งเสรีภาพอย่างแท้จริงมานานหลายทศวรรษ
หากเราไม่เลือกอย่างหลัง และส่งเสียงเรียกร้อง ผมเกรงว่าสื่อไทยย่อมเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาไปโดยปริยาย และสะท้อนถึงความขลาดเขลาในการเรียกร้องสิทธิพื้นฐานในวิชาชีพ เพราะภายใต้กฎหมายนี้ สื่อได้แต่รายงานข่าวด้านบวกด้านเดียวซ้ำๆ จนไม่ต่างจากพีอาร์ กรมประชาสัมพันธ์ หรือกระบอกเสียงของสถาบันกษัตริย์ไปโดยปริยาย
เราจำเป็นต้องตั้งคำถามถึงความเหมาะสมของกฎหมายนี้ในศตวรรษที่ 21 ในยุคที่เยาวชนจำนวนไม่น้อยเรียกร้องความโปร่งใสตรวจสอบได้ต่อสถาบันฯ
หากนักข่าวหรือบรรณาธิการผู้ใดยังคงมีอาการป่วยสืบเนื่องจากการปฎิเสธความจริงอย่างเรื้อรัง ผมก็ขอยกตัวอย่างสิ่งที่นักข่าวระดับอินเตอร์อย่างนายโจนาธาน เฮดด์ แห่งสำนักข่าว BBC ที่ปฎิบัติเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ตอนรายงานสดข่าวสวรรคตของรัชกาลที่ 9
ตอนนั้น นายโจนาธาน ถูกผู้ดำเนินรายการข่าวที่กรุงลอนดอนถามว่าองค์รัชทายาทเป็นคนอย่างไร
โจนาธานตอบสดๆ ทางทีวีว่า: “We can’t frankly, because of the law against [defaming] the monarchy, talk very safely about his personality…” (“เราไม่สามารถพูดเกี่ยวกับบุคลิกของพระองค์อย่างตรงไปตรงมาและปลอดภับได้เพราะกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ”)
การสื่อสารกับผู้ชมให้ทราบว่านักข่าวจำต้องเซนเซอร์ตนเอง ไม่สามารถแสดงความเห็นเท่าทันเจ้าได้ คือสิ่งที่ดีรองลงมาจากการมีเสรีภาพในการรายงาน ดีกว่าเงียบหรือหลองประชาชนโดยปฎิเสธตนเองว่าไม่มีการเซนเซอร์ และไม่พูดเรื่องนี้
สื่อสารมวลชนร่วมอาชีพครับ ผมตระหนักดีว่า แม้แต่ในบรรดาผู้ประกอบวิชาชีพสื่อด้วยกัน เราก็ยังมีมุมมองแตกต่างหลากหลายเรื่อง ม.112
อย่างไรก็ตาม หากเราเชื่อว่าเสรีภาพสื่อเป็นปัจจัยขั้นพื้นฐานที่สำคัญยิ่งยวดต่อการปฎิบัติหน้าที่สื่อสารมวลชนอย่างตรงไปตรงมา เราก็คงปฎิเสธมิได้ว่า ม.112 เป็นอุปสรรคต่อการปฎิบัติหน้าที่สื่อ ถึงเวลาหรือยังที่เราจะเรียกร้องให้อย่างน้อยที่สุด มีการปฎิรูปกฎหมาย ม.112 ทั้งลดโทษ ไม่ให้ใครก็ได้ฟ้อง และให้การวิพากษ์สถาบันฯเพื่อประโยชน์สาธารณะไม่เป็นความผิด หากเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ทั้งสื่อและประชาชนพึงกระทำได้
หากสื่อทำตาปริบปริบมองสถานการณ์เลวร้ายลงเรื่อยๆ โดยไม่ส่งเสียงหรือเรียกร้องให้มีการปฎิรูปกฎหมายนี้ ผมเกรงว่าในที่สุด นักวิชาชีพสื่อจะถูกประวัติศาสตร์พิพากษาว่าพวกเราละเลยในพันธะแห่งวิชาชีพ เพราะยอมให้เสรีภาพสื่อถูกริดรอนมานานปี และปราศจากซึ่งความซื่อสัตย์ในวิชาชีพ ในการสื่อสารยอมรับกับสังคมว่าทุกวันนีี้สื่่อและสังคมแท้จริงแล้ว เราอยู่กันอย่างไร
ประวิตร โรจนพฤกษ์
23 ตุลาคม 2564