DemAll และ Amnesty เรียกร้องรัฐบาลไทย ไม่ส่งนักข่าวของ Democratic Voice of Burma (DVB) ทั้ง 3 คน กลับเมียนมา DemAll ชี้หากส่งตัวกลับ จะทำให้นักข่าวตกอยู่ในอันตรายร้ายแรง ด้าน Amnesty เตือน หากไทยส่งกลับนักข่าวกลับเมียนมาจะเป็นการ “ละเมิดหลักการไม่ส่งกลับ” ของกฎหมายระหว่างประเทศ
DemAll ชี้หากส่งตัวกลับ จะทำให้ผู้สื่อข่าวทั้ง 3 คน ตกอยู่ในอันตรายร้ายแรง
Facebook Page สมาพันธ์สื่อไทยเพื่อประชาธิปไตย (DemAll) ออกแถลงการณ์ เรื่อง ขอเรียกร้องรัฐบาลไทยไม่ให้ส่งนักข่าวเมียนมากลับประเทศ โดยมีเนื้อหาดังนี้
ตามที่มีข่าวเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2564 ว่า มีนักข่าวอาวุโสของสำนักข่าว Democratic Voice of Burma (DVB) ชาวเมียนมา 3 คนและพลเมืองเมียนมา 2 คนถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ ทั้งหมดถูกตั้งข้อหาเข้าเมืองผิดกฎหมายและเตรียมส่งกลับเมียนมานั้น
รวมถึงแถลงการณ์ของสำนักข่าว Democratic Voice of Burma ที่ระบุว่าผู้สื่อข่าวทั้ง 3 คนเพียงแต่หลบหนีออกจากชายแดนเมียนมาเข้ายังประเทศไทยด้วยเหตุการณ์ปราบปรามผู้ต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาโดยมีเจตนาเพื่อรายงานข่าวเรื่องสถานการณ์ในเมียนมาจากไทย ตามที่สำนักข่าวท้องถิ่นของเชียงใหม่ระบุว่า ระหว่างจับกุมพบอุปกรณ์การรายงานข่าวด้วยนั้น
สมาพันธ์สื่อไทยเพื่อประชาธิปไตยจึงขอเรียกร้องไม่ให้รัฐบาลไทยส่งตัวผู้สื่อข่าวทั้ง 3 คนกลับเมียนมา เนื่องจากจะทำให้คนเหล่านี้ตกอยู่ในอันตรายร้ายแรงทั้งต่อสวัสดิภาพของตัวเองและต่อสิทธิเสรีภาพในการทำหน้าที่สื่อมวลชนซึ่งควรให้ความเคารพและสนับสนุนอย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ หลังการรัฐประหารในเมียนมามีผู้สื่อข่าวจำนวนมากถูกคุกคามจากรัฐบาลทหาร มีผู้สื่อข่าวถูกคุมตัวอย่างน้อย 73 ราย ถูกดำเนินคดีแล้ว 42 ราย ถูกหมายจับและอยู่ระหว่างหลบหนีอย่างน้อย 22 ราย สถานีโทรทัศน์ถูกถอนใบอนุญาต 6 แห่ง และมีประชาชนถูกสังหารมากกว่า 750 คน
สมาพันธ์สื่อไทยเพื่อประชาธิปไตย
Amnesty เตือน หากไทยส่งกลับนักข่าวกลับเมียนมา “ละเมิดหลักการไม่ส่งกลับ” ของกฎหมายระหว่างประเทศ
ขณะที่ Amnesty International Thailand เปิดเผยผ่านเว็บไซต์ในหัวข้อ “ประเทศไทย: ทางการต้องไม่ส่งเนรเทศผู้สื่อข่าวชาวเมียนมาที่กำลังเผชิญกับความเสี่ยงร้ายแรง” โดยมีเนื้อหาดังนี้
สืบเนื่องจากการรายงานข่าว ทางการไทยจับกุมชาวเมียนมา รวมทั้งผู้สื่อข่าวสามคนจากสำนักข่าว Democratic Voice of Burma (DVB) ที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม มิงยู ฮาห์ รองผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคฝ่ายรณรงค์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวดังนี้
“ทางการไทยจะต้องไม่บังคับส่งกลับบุคคลเหล่านี้ไปเมียนมา การกระทำเช่นนั้นย่อมทำให้เกิดความเสี่ยงอย่างยิ่งต่อพวกเขา ทั้งการถูกจับกุมและการควบคุมตัวโดยพลการ การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่น ๆ และอาจถึงขั้นเสียชีวิต
“การกระทำเช่นนั้นย่อมทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ละเมิดพันธกรณีตามหลักการไม่ส่งกลับภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ
“ที่ผ่านมามีรายงานที่น่าเชื่อถืออย่างต่อเนื่องถึงการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่น ๆ ระหว่างการควบคุมตัวในเมียนมา ซึ่งมีสภาพรุนแรงขึ้นภายหลังการทำรัฐประหาร โดยมีบุคคลจำนวนมากถูกควบคุมตัวในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาและต้องเสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวโดยไม่มีเหตุผลที่ชัดเจน
“หลายปีที่ผ่านมา ดีวีบีเป็นสำนักข่าวชั้นนำที่กล้าแสดงความเห็นเพื่อตรวจสอบทางการ หากถูกส่งตัวกลับไปเมียนมา นักข่าวทั้งสามคนย่อมจะต้องประสบกับความเสี่ยงที่ร้ายแรงอย่างมาก
“ประเทศไทยเคยเป็นประเทศที่รองรับชุมชนผู้พลัดถิ่นและผู้ลี้ภัยจากเมียนมามาเป็นเวลานาน รวมทั้งผู้ที่ตกเป็นเป้าหมายจากการทำงานสื่อมวลชนอย่างกล้าหาญ ผู้ที่หลบหนีจากการโจมตีทางอากาศของกองทัพเมียนมา และประชาชนชาวเมียนมาที่ต้องหลบหนีอีกครั้งในวันนี้ เราหวังว่าทางการไทยจะให้ที่พักพิงแก่ผู้แสวงหาความปลอดภัยอย่างสอดคล้องตามกฎหมายระหว่างประเทศ”
ข้อมูลพื้นฐาน
ตามถ้อยแถลงของ เอ ชาน หน่ายบรรณาธิการบริหารสำนักข่าวดีวีบี ได้แถลงว่านักข่าวอาวุโสสามคนของดีวีบีและนักกิจกรรมอีกสองคนถูกตำรวจไทยจับกุมเมื่อวันอาทิตย์ที่ 9 พฤษภาคม ที่เชียงใหม่ (ประเทศไทย) ก่อนหน้านี้พวกเขาได้รายงานข่าวเกี่ยวกับการชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐประหารในเมียนมาจนถึงวันที่ 8 มีนาคม ซึ่งเป็นวันที่กองทัพได้เพิกถอนใบอนุญาตของสถานีโทรทัศน์ดีวีบี แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยืนยันได้ว่าปัจจุบันทั้งห้าคนอยู่ระหว่างการควบคุมตัวของตำรวจ
นับแต่การทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ กองทัพเมียนมาได้เพิกถอนใบอนุญาตของสำนักข่าวหลายแห่ง และยังได้ควบคุมตัวผู้สื่อข่าวโดยพลการอีกหลายสิบคน อีกทั้งยังถูกดำเนินคดีหรือเกิดความหวาดกลัวต่อการถูกจับกุม ทำให้หลายคนเลือกที่จะหลบซ่อนตัว
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลต่อต้านการส่งกลับบุคคล ซึ่งเป็นข้อห้ามตามกฎหมายระหว่างประเทศในทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น การไม่ส่งกลับบุคคลเป็นหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งห้ามส่งตัวบุคคลไปยังประเทศหรือเขตอำนาจศาลใด ซึ่งมีความเสี่ยงอย่างแท้จริงว่าพวกเขาจะถูกละเมิดหรือปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง หลักการนี้เป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ ซึ่งมีผลบังคับใช้กับรัฐทุกแห่ง ไม่ว่าจะมีการให้สัตยาบันต่อสนธิสัญญาที่เกี่ยวข้องหรือไม่ก็ตาม