ถอดคำต่อคำ “แถลงการณ์นายกรัฐมนตรี” เกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 และวัคซีน ในวันนี้ (23 เมษายน 2564) เวลา 21.00 น. ความยาวประมาณ 10 นาที ยืนยันเร่งนำเข้าวัคซีน พร้อมให้ขอประชาชนการ์ดอย่าตก
วันนี้ (23 เมษายน 2564) เวลา 21.00 น. โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ได้รับการประสานจากสำนักโฆษกฯ ว่า วันนี้ เวลา 21.00 น. ขอให้ทุกสถานีรับสัญญาณ “แถลงการณ์นายกรัฐมนตรี” เกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 และวัคซีน จากแม่ข่าย ททบ.5 ความยาวประมาณ 10 นาที มีเนื้อหาทั้งหมดดังนี้
พี่น้องประชาชนที่รักทุกท่าน
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ในวันนี้ มีอัตราการติดเชื้อทั่วโลกประมาณ 8 แสนคน และยังมีแนวโน้มที่จะอยู่ในอัตราที่สูงอยู่ องค์การอนามัยโลกก็ได้เตือนว่าจะเกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกอีกรอบ ส่งผลให้จะเกิดการช่วงชิงทรัพยากรเพื่อใช้ในการรักษาทั่วโลก
สำหรับประเทศไทยและประชาชนชาวไทย นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ได้พระราชทาน อุปกรณ์ทางการแพทย์ อาทิ รถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัย รถตรวจวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษ รถเอ็กซ์เรย์ รถพยาบาลกู้ชีพฉุกเฉินเครื่องช่วยหายใจ และเครื่องมือทางการแพทย์อื่นๆ จำนวนมาก เป็นต้น
นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ในนามของประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานหนังสือขอขอบใจ และขอเป็นกำลังใจ รวมทั้งขอเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนทั้งด้านทรัพยากรและบุคลากร ให้กับแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ รวมถึงประชาชนชาวไทยทุกคนอีกด้วย
ในวันนี้ประเทศไทยมียอดผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 2,070 ราย อันเป็นผลมาจากคลัสเตอร์ล่าสุดช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์ ที่ยังคงส่งผลสืบเนื่องต่อมาอีกอย่างน้อย 2 สัปดาห์ โดยอัตราการแพร่ระบาดครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่าการแพร่ระบาดมีความรุนแรงและเป็นวงกว้างกว่าระลอกที่ผ่านๆ มา ซึ่งถ้าหากเราสามารถร่วมมือ ร่วมใจกันอีกครั้ง “การ์ดไม่ตก” ดำเนินการตามมาตรการต่างๆ ที่ ศบค.แนะนำ ก็จะช่วยลดภาระให้กับบุคลากรทางการแพทย์ของเรา และสามารถพลิกสถานการณ์กลับมาอยู่ภายใต้การควบคุมอีกครั้งในเร็ววัน
ทั้งนี้ รัฐบาลและ ศบค. มีการประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดอยู่ตลอดเวลาโดยคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หากมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องปรับมาตรการให้เข้มงวดขึ้น จะมีการเร่งพิจารณาและประกาศล่วงหน้าให้ได้รับทราบโดยทันที ในขณะเดียวกันเพื่อความไม่ประมาท ผมได้สั่งการให้มีความเตรียมพร้อมระบบสาธารณสุขของประเทศในด้านต่างๆ เพื่อสามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เร่งรัดกระบวนการจัดหาและฉีดวัคซีนให้ทั่วถึง รวมทั้งพิจารณาการฟื้นฟูเยียวยาในอนาคตด้วยนะครับ
ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลได้เร่งดำเนินการฉีดวัคซีนที่ได้รับมอบแล้ว จำนวน 2.1 ล้านโดส ที่สามารถฉีดได้ 1.05 ล้านคน โดยนับถึงวันนี้ ได้มีการฉีดวัคซีนไปแล้ว 8.4 แสนคน กว่าครึ่งหนึ่งเป็นการฉีดให้กับบุคลาการทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ด่านหน้า ที่ต้องปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงตลอดเวลา ซึ่งบุคลากรูทั้งหมดจะได้รับวัคซีนครบถ้วน ภายในสัปดาห์นี้
นอกจากนี้ รัฐบาลและ ศบค. ก็มิได้นิ่งนอนใจ โดยได้เร่งการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม โดยตั้งเป้าหมายว่าจะต้องจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม ให้ครบ 100 ล้านโดส เพื่อฉีดให้กับประชาชน 50 ล้านคน ภายในสิ้นปี 64 นี้ ที่ผ่านมาเราจัดหาแล้ว 64 ล้านโดส ประกอบด้วย AstraZeneca 61 ล้านโดส เริ่มส่งมอบเดือนมิถุนายนนี้ 6 ล้านโดส และเดือนต่อๆ ไปอีก เดือนละ 10 ล้านโดส, Sinovac 2.5 ล้านโดส ส่งมอบแล้ว 2 ล้านโดส พรุ่งนี้ มาอีก 500,000 โดส ล่าสุดเป็นเรื่องที่น่ายินดีว่า รัฐบาลจีนได้แจ้งความประสงค์บริจาควัคซีนให้ไทยอีก 500,000 โดส
ในส่วนที่จะต้องจัดหาเพิ่มเติมอีก 36 ล้านโดสนั้น รัฐบาลก็ประสบความสำเร็จในการเจรจาจัดหาวัคซีนสปุตนิค วี จำนวน 5-10 ล้านโดส และไฟเซอร์ อีก 5-10 ล้านโดส มาเพิ่มเติมอย่างเร่งด่วนแล้ว
และเพื่อเป็นการเติมเต็มภาครัฐ และเกิดการทำงานเชิงรกมากขึ้น ผมได้ตั้งคณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนป้องกัน โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ขึ้น ซึ่งประกอบด้วย คณะแพทย์ในกระทรวงสาธารณสุข องค์การเภสัชกรรม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน โดยมีนายแพทย์ ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นประธาน ซึ่งได้รับรายงานว่าสภาหอการค้าไทย จะช่วยรัฐบาลจัดหาให้กับพนักงานลูกจ้างเองด้วย ประมาณ 10-15 ล้านโดส
และในอาทิตย์หน้า ผมก็จะประชุมร่วมกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ได้แก่ สภาหอการค้า สุภาอุตสาหกรรม และสมาคมธนาคารไทย เพื่อรับฟังความเห็นเกี่ยวกับแนวทางการจัดหาและแจกจ่ายวัคซีน ทั้งหมดนี้ ก็เพื่อให้ประเทศไทยของเรา สามารถมีวัคซีนเพื่อฉีดให้กับประชาชนให้ครบ 50 ล้านคน ภายในสิ้นปีนี้ครับ
ผมขอยืนยันว่า รัฐบาลและ ศบค. มีความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดในครั้งนี้อย่างเต็มที่ องค์การเภสัชกรรมได้มีการสำรอง และกระจายยาฟาวิพิราเวียร์ สำหรับรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 จำนวนมากกว่าสามแสนเม็ด โดยมีการกระจายไปสำรองในพื้นที่ต่างๆ แล้ว และกำลังนำเข้าเพิ่มอีก 2 ล้านเม็ด
ในด้านการจัดเตรียมเตียงให้กับผู้ป่วย เรามีเตียงสำหรับรองรับผู้ป่วยโควิด และผู้เสี่ยงติดเชื้อ รวมกว่า 28,000 เตียง ทั้งที่อยู่ใน โรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลสนาม และ Hospitel ซึ่งในขณะนีมีผู้ป่วยหลักพันต่อเนื่องกันหลายวัน ทำให้จำนวนเตียงลดลงอย่างมาก แต่รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้จัดเตรียมมาตรการเพื่อจัดหาเตียงให้กับผู้ป่วยทุกคนให้ได้
ในส่วนของมาตรการเยียวยาผลกระทบทางเศษฐกิจรัฐบาลได้เตรียมงบประมาณในการเยียวยาและฟื้นฟูเศษฐกิจไว้อีกประมาณ 3.8 แสนล้านบาท โดยมาจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ในส่วนของเงินกู้เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 2.4 แสนล้านบาท งบกลางปีงบประมาณ 2564 อีก 9.9 หมื่นล้านบาท และค่าใช้จ่ายบรรเทาโควิด-19 อีก 4 หมื่นล้านบาท โดยฝ่ายเศรษฐกิจได้เตรียม โครงการที่จะช่วยเพิ่มเงินในกระเป๋าให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายและการบริโภค รวมไปถึงโครงการที่จะก่อให้เกิดการลงทุนและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในท้องถิ่น
เพราะฉะนั้น ขอให้ทุกท่านเชื่อมั่นว่า รัฐบาลมีงบประมาณเพียงพอที่จะใช้ในการช่วยเหลือเยียวยา รวมทั้งการฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาเจริญเติบโตให้ได้โดยเร็ว
ผมขอขอบคุณประชาชนทุกคนที่ให้ความร่วมมือ ให้ความช่วยเหลือในการฝ่าวิกฤตครั้งนี้ ขอขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์ หมอ พยาบาล อสม. เจ้าหน้าที่ทุกคน ที่เสียสละ อดทน แม้ว่าตนเองจะเสี่ยงอันตรายและเหน็ดเหนื่อยเพียงใด แต่ยังคงมุ่งมั่นทุ่มเททำหน้าที่เพื่อส่วนรวม ผมขอยกย่องทุกท่านจากใจจริง
ดังนั้นพวกเราทุกคนจึงต้องช่วยกันปกป้องทีมแพทย์ของประเทศไทย ด้วยการระมัดระวังตัว ลดความเสี่ยงให้มากที่สุดในช่วงเวลานี้ คือ การเว้นระยะห่าง ล้างมือ และใส่แมสก์ให้มากที่สุดเมื่อต้องพบเจอผู้อื่น
ในฐานะนายกรัฐมนตรี ผมขอให้คำมั่นสัญญาว่า ผมและรัฐบาลจะทำทุกทางเพื่อให้เราผ่านวิกฤตในระลอกนี้ไปให้ได้ พวกเราทุกคนจะสู้ไปด้วยกันอีกครั้ง และผมเชื่อมั่นว่า ด้วยศักยภาพของเราทุกคนประเทศไทยจะต้องเอาชนะโรคร้ายในครั้งนี้ ได้อย่างแน่นอน
ขอบคุณครับ