เสวนา 62 ปี โทรทัศน์ไทย บอย จุติพร ช่อง 9 MCOT และไนน์เอ็นเตอร์เทนชี้การรับรู้ของคนไทยคือทีวีเท่ากับความบันเทิงมาตั้งแต่แรก ชุตินธรา PPTV ระบุค่าไลเซนส์ทีวีดิจิทัลสูงเกินไป ฝาก กสทช. ทบทวน สรรเสริญปิ๊งไอเดียฟื้นมีรายการกวดวิชาให้นักเรียนบน NBT
23 มิ.ย. 60 กรมประชาสัมพันธ์ ร่วมกับมูลนิธิจำนง รังสิกุล และชมรมส่งเสริมโทรทัศน์ไทย จัดกิจกรรมวันโทรทัศน์ไทย ประจำปี 2560 ณ ห้องประชุม 1 อาคารหอประชุม กรมประชาสัมพันธ์
สรรเสริญ แก้วกำเนิด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์กล่าวเปิดงาน ในระหว่างเปิดงานได้เปิดคลิป “ถ้าทุกคนพูดไทยคำอังกฤษ” จาก Youtube Channel ที่ชื่อ Salmon House โดยกล่าวหลังการเปิดคลิปว่าถ้าทีวีทำได้น่าสนใจแบบนี้ผมว่าทีวีเราจะวนเวียนกลับมาท๊อปฮิต ติดหู ติดตากันอีกครั้งหนึ่ง
นอกจากนี้สรรเสริญยังระบุสถานีโทรทัศน์ NBT ในอนาคตจะมีการทำกิจกรรมต่าง ๆ มากขึ้น เพื่อสร้างกลุ่มผู้ติดตามช่อง NBT ให้มากขึ้น และจะมีการนำเอาครูสอนกวดวิชาชื่อมาสอนเนื้อหาการเรียนในช่อง NBT เพื่อเป็นทางเลือกให้กับนักเรียน และจะมีการเดินสายทำข้อตกลงหรือ MOU กับหน่วยงานราชการทุกหน่วยให้หันมาให้บริการกรมประชาสัมพันธ์ในการทำสื่อประชาสัมพันธ์หน่วยงานแทนที่จะให้บริการของหน่วยงานเอกชน
“นอกเหนือจากนั้นเราจะใช้ทีวีของเราเป็นช่องทางในการสอนหนังสื่อให้กับเด็กที่อยากจะกวดวิชาเข้ามหาวิทยาลัยแต่คุณพ่ออาจจะไม่มีสตางค์ส่งลูกไปเรียนแถวสยาม เราก็ไปกว้านครูอุ๊ ครูกอล์ฟ เอามาสอนออกทีวี แล้วจะมีการโฆษณาก่อนล่วงหน้าว่าถ้าเด็กที่จะเรียนกวดวิชาในวันเสาร์-อาทิตย์กับสถานีโทรทัศน์ NBT ท่านเอาสามารถเอาโทรศัพท์มาโหลดตำราเรียนได้ที่บาร์โค้ดที่เขาติดที่หน้าจอเอาไว้ก่อน แบบนี้เป็นต้น” สรรเสริญกล่าว

ต่อมาเวลา 09:30-12:00 น. มีการเสวนาในหัวข้อ “กว่าหกทศวรรษโทรทัศน์ไทย…ให้อะไรกับสังคม” โดยมีวิทยากร 6 ท่าน ได้แก่ รอง เค้ามูลคดี, นคร วีระประวัติ, บอย ธิติพร จุติมานนท์ และชุตินธรา วัฒนกุล ดำเนินรายการโดยนีรนุช ปัทมสูต พิธีกร-นักแสดงอาวุโส
รอง เค้ามูลคดี ศิลปิน-นักแสดงอาวุโส เล่าถึงประวัติการแสดงในทีวียุคขาวดำ โดยเล่าว่าตนได้แสดงละครเป็นหน้าจอทีวีตั้งแต่อายุ 9 ปี แต่กว่าจะได้แสดงจริงต้องใช้เวลาหลายเดือนในการซ้อมก่อนแสดงจริง เมื่อแสดงจริงต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้ได้ทันท่วงที เพราะการแสดงทั้งหมดเป็นการแสดงสด ยังไม่มีการบันทึกเทปแต่อย่าง และรองกล่าวว่ายกย่องได้อยู่นายจำนง รังสิกุล (หัวหน้าฝ่ายรายการช่อง 4 บางขุนพรหมคนแรก) ที่ได้คิดทำรายการลูกทุ่งกรุงไทย จึงเป็นที่มาของคำว่า “เพลงลูกทุ่ง” และแนวเพลงลูกทุ่งที่ใช้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
นคร วีระประวัติ ประธานชมรมวิจารณ์บันเทิง มองว่าโทรทัศน์นั้นให้ทั้งคุณและโทษ แต่มองว่าให้คุณมากกว่าถึงแม้จะให้โทษพอสมควร แต่โทรทัศน์ก็ควรจะมีไว้ เพราะเป็นสื่งที่ผู้ชมควรจะได้รับทราบสาระและข้อมูลจากช่องทางนี้ โดยชี้ว่าระบบเรตติ้งรายการที่ระบุว่ารายการนี้เหมาะสำหรับผู้ชมวัยใด ก็ถือว่าเป็นการจัดรายการที่ไม่เหมาะสมไปอยู่ในช่วงเวลาดึกแทนเป็นต้น
ด้าน บอย ธิติพร จุติมานนท์ รักษาการผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 MCOT HD และผู้จัดการส่วนรายการ Nine Entertain ระบุแปลกใจว่าทำไมทีวีในปัจจุบันถึงมีเรื่องบันเทิงส่วนใหญ่ เพราะจุดเริ่มต้นของทีวีเท่ากับความบันเทิงมาตั้งแต่แรก รวมถึงตั้งข้อสังเกตว่ามี 3 ปัจจัยที่มีผลต่อทีวีดิจิทัล ได้แก่ ข้อแรกเทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ข้อสองพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป จากการชมทีวีผ่านหน้าจอ เปลี่ยนไปชมรายการต่างๆ ทางออนไลน์มากขึ้น และข้อสามกฎหมายจาก กสทช. ที่มีการกำกับดูแลทีวีดิจิทัลอย่างชัดเจนต่างจากสื่อใหม่ในออนไลน์ที่ยังไม่ชัดเจนในเรื่องข้อกฎหมายที่จะเข้ามากำกับดูแล
“สิ่งหนึ่งที่ต้องบอกเลยคือเริ่มต้นการมีทีวีในประเทศไทยคือความบันเทิง เพราะฉะนั้นไม่แปลกที่ปัจจุบันคนจะบ่นว่าที่บ้านเรามีแต่ความบันเทิง เพราะถูกปลูกฝังตั้งแต่วันแรกของการออกอากาศจนถึงปัจจุบัน การรับรู้ของคนไทยก็คือทีวีเท่ากับความบันเทิง เพราะฉะนั้นจะบอกว่า 62 ปีทีวีไทยมันก็แบบนี้อ่ะครับ มันก็มาด้วยดีเอ็นเอเดียวกัน ก็คือความบันเทิง” ธิติพรระบุ
ส่วนชุตินธรา วัฒนกุล ผู้อำนวยการสื่อใหม่ บริษัท บางกอกมีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด (สถานีโทรทัศน์ PPTV HD 36) มองว่าทีวีดิจิทัลดิจิทัลประเทศไทยเกิดช้าเกิน เมื่อเปรียบเทียบกับทีวีดิจิทัลยุโรปขยายแพร่หลายสมบูรณ์ก่อนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตหรือมือถือจะเริ่มแพร่ขยาย รวมถึงเสนอแนะว่าการกลั่นกรองข้อมูลต่างๆ นอกเหนือจากทางทีวีต้องเริ่มการกลั่นกรองจากตัวเองและครอบครัวต้องปลูกฝังเรื่องเหล่านี้ นอกจากนี้ยังตั้งข้อสังเกตว่าทีวีดิจิทัลต้องเสียค่าไลเซนส์ให้กับ กสทช. สูงมาก สูงจนกระทั่งไม่สามารถทำอย่างอื่นได้ จึงขอฝากให้ กสทช.พิจารณาในส่วนนี้ด้วย
“เมื่อก่อนเราบอกเรามี gatekeeper ก็คือคนที่เหมือนนายทวารประตูที่จะต้องคอยคัดกรองคอยกลั่นกรองข้อมูลข่าวสารก่อน แต่ปัจจุบันมันไม่ได้ถูกกลั่นกรองแล้ว เพราะข้อมูลข่าวสารมันส่งได้ทุกทิศทุกทาง เพราะฉะนั้นคนที่จะต้องกลั่นกรองคือใคร นั่นก็คือตัวเราเอง ที่นี้ตัวเราเองก็บางอย่างกลั่นกรองได้ บางอย่างก็กลั่นกรองไม่ได้ อาจจะมีในเรื่องของตัวแปรต่างๆ ตามมา เช่น เรื่องของการแชร์กัน เรื่องของดราม่าต่างๆที่ออกมาถูกทำให้สนุกสนาน ซึ่งถูกทำให้ส่งต่ออย่างรวดเร็ว เขาบอกว่าปัจจุบันคนไทยอ่านหนังสือไม่เกินแปดบรรทัด เห็นอะไรปุ๊บก็แชร์ปั๊บ ยังไม่รู้เลยว่าแชร์อะไร มันก็ต้องมีการอบรมจริงๆ อย่างเร่งด่วน ไม่ใช่แค่ระดับผู้ประกาศ แต่ต้องเป็นระดับคุณพ่อคุณแม่ ครอบครัว ครู ที่ต้องเข้าไปอบรมทุกอณูเลย” ชุตินธรากล่าว